หน้า 8 จาก 34
8. ประสพเคราะห์กรรม
แต่ครั้นถึงปี ค.ศ. 1537 โศกนาฏกรรมหลายต่อหลายอย่างได้ซัด กระหน่ำชีวิตและครอบครัวของนอสตราดามุส คือปีนั้นกาฬโรคระบาดเข้ามาในเมืองอากัง และในที่สุด ได้คร่าเอาชีวิตภรรยาและลูกทั้งสองคนของนอสตราดามุสไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาได้พยายามอย่างสุดความสามารถ แต่ก็ไม่อาจช่วยชีวิตภรรยาและลูกทั้งสองคนของเขาได้
เมื่อการณ์กลับปรากฏเป็นเช่นนี้ เกียรติภูมิของนอสตราดามุสในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้สามารถในการรักษากาฬโรคได้ถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อประชาชนทราบว่าเขาไม่สามารถช่วยชีวิตแม้แต่คนในครอบครัวของตัวเองได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะต่อมาเขาเกิดแตกคอกับนายชาลิแจร์ จนถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกันในที่สุด ซึ่งที่จริงผู้ที่ก่อเรื่องไม่ใช่ฝ่ายนอสตราดามุส แต่เรื่องเกิดขึ้นเพราะชาลิแจร์เป็นผู้ก่อ ชาลิแจร์ไม่เพียงแต่ก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับนอสตราดามุสเท่านั้น แต่ยังเที่ยวหาเรื่องกับเพื่อนฝูงทุกคนของเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเป็นเพื่อนระหว่างนอสตราดามุสกับชาลิแจร์จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่นอสตราดามุสไม่เคยกล่าวให้ร้ายป้ายสีชาลิแจร์เลย ในหนังสือ Traite des fardemens นอสตราดามุสยังคงเขียนสรรเสริญ เยินยอเกียรติคุณของชาลิแจร์ ไว้ว่า “เป็นผู้สืบทอดวิญญาณของ ซิเซโรทางด้านวาทศิลป์ เป็นผู้สืบทอดวิญญาณของเวอร์จิลทางด้านการประพันธ์ และเป็นผู้สืบทอดวิญญาณของกาลังทางด้านการแพทย์ ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณชาลิแจร์ ยิ่งกว่าบุคคลอื่นใดในโลก”
จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ยกมานี้เป็นการยกย่องสดุดีความสามารถทางด้านต่างๆของชาลิแจร์ นอสตราดามุสไม่ได้เอ่ยถึงความเลวของเพื่อน นักปรัชญาผู้นี้แม้แต่น้อยนิด
เคราะห์กรรมของนอสตราดามุสยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะปรากฏว่าเขาถูกพ่อตาแม่ยายฟ้องร้องทางศาลเพื่อเรียกสินสอดทองหมั้น ที่ฝ่ายพ่อตาแม่ยายจ่ายให้เขาตอนแต่งงานกับลูกสาวคืน ซึ่งนี่ก็แสดงว่าในประเทศฝรั่งเศสสมัยนั้นเมื่อชายหญิงแต่งงานกัน ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้จ่ายสินสอดให้แก่ฝ่ายชายเหมือนอย่างที่ประเทศอินเดีย
นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1538 นอสตราดามุสถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนจักรคาทอลิก โดยระบุว่าครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวลบหลู่ดูหมิ่นศาสนจักรนิกายคาทอลิกอะไรบางอย่างเอาไว้ คนที่ได้ยินคำพูดของเขาจึงได้รายงานถึงเจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาสนจักร
แต่เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งนอสตราดามุสเดินไปพบช่างคนหนึ่งกำลังหล่อรูปของพระแม่มารีอยู่ เขาเกิดคะนองปากพูดวิจารณ์ไปว่ารูปพระแม่มารีที่ช่างกำลังหล่ออยู่นั้นมีลักษณะเหมือนกับรูปของปีศาจ
เมื่อเกิดเรื่องราวขึ้นมาเช่นนี้ ทางฝ่ายนอสตราดามุสได้อุทธรณ์ไปว่า ที่เขาพูดเช่นนั้นไม่ได้จงใจที่จะลบหลู่ดูหมิ่นสิ่งเคารพของชาวคริสเตียน เป็นเพียงแต่กล่าววิจารณ์ว่า พระรูปของแม่พระมารีไม่งดงามในเชิงสุนทรียศาสตร์เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการสอบสวนของฝ่ายศาสนจักรคาทอลิก ไม่เชื่อในคำอุทธรณ์นี้ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่เมืองอากัง เพื่อทำการจับกุมนอสตราดามุสนำมาลงโทษที่เมืองตูลูส
นอสตราดามุสตระหนักเป็นอย่างดีว่า หากเขายอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศาสนจักรจับกุม ก็มีหวังจะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลพระ หรือดีไม่ดีอาจจะถูกนำตัวไปเข้าหลักประหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เขาจึงได้หลบหนีออกจากเมืองอากัง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาสนจักรจะเดินทางไปถึง เที่ยวหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพื่อให้พ้นภัยจากฝ่ายศาสนจักรอยู่เป็นเวลานานถึง 6 ปีเต็ม
นอสตราดามุสไม่ยอมแต่งงานใหม่ และครองตนเป็นพ่อหม้ายอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1547 จึงได้ตกลงปลงใจแต่งงานกับแม่หม้ายทรงเครื่องคนหนึ่งที่เมืองซาลอง อัง โปรวองซ์
นอสตราดามุสมีลูกกับแม่หม้ายคนนี้ถึง 6 คน มีคนหนึ่งฉลาดเฉียบแหลมได้พ่อชื่อ ซีซาร์ เดอ นอสเตรอดัม เมื่อผู้พ่อเสียชีวิต ซีซาร์ผู้นี้อายุได้ 9 ปี ที่เรื่องราวของนอสตราดามุสไม่สูญหายไปจากโลก ส่วนหนึ่งก็เพราะซีซาร์นำมาบันทึกไว้ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นชื่อ Histoire de Provence
ในช่วงที่นอสตราดามุสยังเป็นพ่อหม้ายหลบหนีการจับกุมของฝ่ายศาสนจักรอยู่นั้น เราไม่ค่อยทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางการเดินทางของเขามากนัก ที่เห็นมีอยู่บ้างก็แต่ในหนังสือที่เขาเขียนขึ้นในเวลาต่อมาชื่อ Moultes Opuscules ซึ่งระบุว่าได้ไปที่เมืองลอร์เร็น เมืองเวนิช และเมืองซิซิลี เขาไปในประเทศอิตาลีเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีทางการแพทย์ และสูตรยารักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อไปพบปะกับนักโหราศาสตร์ นักเล่นแร่แปรธาตุ และเกจิอาจารย์ทางไสยศาสตร์คนสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเมืองต่าง ๆ เหล่านั้น
ในช่วงเดียวกันนี้ นอสตราดามุสได้แปลหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Horus Apollo ของ ฟิลิปปุส จากภาษากรีกเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นหนังสือประมวล ความรู้ทางด้าน
จริยศาสตร์และปรัชญาธรรมดาๆ ซึ่งไม่ดีเด่นเป็นที่น่าสนใจของบรรดานักอักษรศาสตร์ในยุคหลังมากนัก
|