หน้า 3 จาก 34
3. ศึกษาแพทยศาสตร์
ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย
การเป็น “โหรน้อย” ของนอสตราดามุส ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงให้แก่บิดามารดาของเขา ด้วยว่าในยุคนั้นฝ่ายศาสนจักรคาทอลิก ได้ทำการปราบปรามผู้ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอยคำสั่งสอนของศาสนาคริสต์ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายศาสนจักรเพื่อทำหน้าที่สอบสวน และทำการลงโทษผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้ขึ้น
ด้วยเหตุที่ครอบครัวของนอสตราดามุสมีภูมิหลังเป็นยิว คณะกรรมการฝ่ายศาสนจักรจึงน่าที่จะจับตามอง เพื่อจับผิดมากเป็นพิเศษกว่าคนเผ่าอื่น ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่บุตร ซึ่งอาจถูกกล่าวหาจากฝ่ายศาสนจักรได้ บิดามารดาจึงตัดสินใจส่งนอสตราดามุสไปศึกษาวิชาการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย เมื่อ ค.ศ. 1522 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิชาการแพทย์รองลงมาจากมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1376 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแห่งนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งอังจู ให้นำศพนักโทษประหารมาชำแหละเพื่อวิจัยทางการแพทย์ได้เป็นกรณีพิเศษ
ขณะเริ่มเข้ามาศึกษาวิชาการแพทย์นี้ นอสตราดามุสมีอายุ 19 ปี เขาใช้เวลาศึกษาอยู่เพียง 3 ปี ก็สามารถสำเร็จปริญญาตรีทางด้านการแพทย์อย่างง่ายดายเป็นประวัติการณ์ ซึ่งแสดงว่าเขาเป็นอัจฉริยะมีความเฉลียวฉลาดมากเป็นพิเศษกว่าบุคคลอื่น
จากบันทึกต่าง ๆ ที่รวบรวมมาได้จากหลาย ๆ แหล่ง มีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการสอบไล่ปีสุดท้ายในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย ซึ่งสำแดงว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบการสอบที่ยากมาก โดยเริ่มสอบกันตั้งแต่แปดโมงเช้าเรื่อยไปจนถึงเที่ยงวัน
นักศึกษาผู้เข้าสอบจะถูกบรรดาศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซักไซ้ไล่เลียงเพื่อตะล่อมให้จนมุม ซึ่งนักศึกษาจะต้องตอบข้อซักถามนั้น ๆ ตามหลักวิชาการที่ตนได้ร่ำเรียนมา จนเป็นที่พอใจของบรรดาศาสตราจารย์ที่เป็นกรรมการสอบ และจะต้องสามารถพิสูจน์ให้กรรมการเห็นว่า ความรู้ที่ตนร่ำเรียนมานั้นแข็งแกร่งพอ ๆ กับความรู้ของกรรมการสอบเลยทีเดียว นักศึกษาที่สามารถผ่านการสอบปากเปล่านี้ได้ ทางมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย จะจัดพิธีมอบครุยปริญญาสีแดงให้ใช้สวมใส่แทนครุยนักศึกษาซึ่งเป็นสีดำ
ที่มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยในสมัยนั้น เพียงแต่ได้ปริญญาตรีทางการแพทย์ไม่ได้มีผลให้นักศึกษาได้ใบประกอบโรคศิลป์โดยอัตโนมัติเหมือนอย่างสมัยนี้ นักศึกษาแพทย์จะต้องผ่านการทดสอบความสามารถในด้านการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ ถึง 5 หัวข้อ โดยกำหนดเวลาไว้ 3 เดือน ซึ่งแต่ละหัวข้อที่นักศึกษาจะนำมาบรรยายให้กรรมการสอบฟังนั้น ทางคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยเป็นผู้ทำการคัดเลือกให้ด้วยตนเอง
หลังจากสอบผ่านในขั้นตอนการบรรยายได้แล้ว ก็จะเป็นการสอบที่เรียกกันในภาษาฝรั่งเศสสมัยนั้นว่า “แปร์ แอ็งตังซิออแน็ม” (Per intentionem)ซึ่งนักศึกษาแพทย์จะถูกกรรมการสอบตั้งปัญหาถามจำนวน 4 ข้อด้วยกัน แต่ละหัวข้อทางกรรมการจะบอกนักศึกษาไปเตรียมค้นคว้าหาคำตอบไว้ก่อนวันสอบหนึ่งวัน
นักศึกษาจะถูกบรรดาศาสตราจารย์ที่เป็นกรรมการ สอบซักไซ้ปัญหาแต่ละข้อ เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และภาษาที่ใช้ในการสอบขั้นนี้คือภาษาละติน การสอบขั้นแปร์ แอ็งตังซิออแน็มนี้กว่าจะครบทุกขั้นตอนใช้เวลา 1-2 วัน
อีก 8 วันต่อมาหลังจากสอบผ่านขั้นแปร์แอ็งตังซิออแน็มนี้ได้ นักศึกษาแพทย์จะต้องเข้าสอบเพื่อตอบปัญหาข้อที่ 5 ซึ่งเป็นปัญหาที่คณะกรรมการสอบไม่ได้บอกให้นักศึกษาไปเตรียมค้นคว้าหาคำตอบเป็นการล่วงหน้า ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกปัญหาข้อนี้มาถามนักศึกษาแพทย์ ได้แก่ตัวอธิการบดีมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเย
หากสอบผ่านขั้นนี้ไปด้วยดี ขั้นต่อไปนักศึกษาแพทย์จะต้องเขียนวิทยานิพนธ์อธิบายวาทะของท่าน ฮิปโปเครติส (Hippocrates) นักปรัชญากรีก ซึ่งถือกันว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการแพทย์ของโลก กับจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์นี้ให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งให้กรรมการสอบทำการตรวจในวันรุ่งขึ้น
การสอบในขั้นตอบปัญหาข้อที่ 5 และการเขียนวิทยานิพนธ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งคืนนี้ ถือว่าเป็นการสอบที่ยากเย็นเข็ญใจที่สุด ทั้งยังสร้างความเครียดและความกระวนกระวายใจให้นักศึกษาแพทย์มากที่สุดอีกด้วย ในสมัยนั้นจึงเรียกการสอบทั้งสองแบบนี้ว่า “การสอบขั้นกระดูกขัดมัน”
หากเราลองเปรียบเทียบการสอบปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ของ มหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยแห่งนี้ กับการสอบปีสุดท้ายของนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสมัยปัจจุบัน ก็พอจะเห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ กว่าที่จะมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นบัณฑิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยมองต์เปลิเยได้นั้นนักศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนและใช้เวลายาวนานมาก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งเอาไว้
อย่างไรก็ตาม นอสตราดามุสสามารถสอบได้ปริญญาตรีทางการแพทย์ ที่ใครต่อใครในสมัยนั้นเห็นว่าแสนยากนี้อย่างง่ายดาย และในที่สุดเขาก็ได้เข้าพิธีรับใบประกอบโรคศิลป์จากมือของบิช็อบแห่งเมืองมองต์เปลิเย เมื่อ ค.ศ. 1525
|