หน้า 2 จาก 2
คาร์เนกีไม่เพียงแต่ทำตามสิ่งที่เขาเชื่อเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดความคิดของเขาไว้ในบทความและหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ในบทความชิ้นสำคัญเรื่อง "Wealth" หรือที่ชาวอเมริกันรู้จักในชื่อ "The Gospel of Wealth" (ตำราแห่งความมั่งคั่ง) ตีพิมพ์ในวารสาร North American Review ในปี ๑๘๘๙ คาร์เนกีสรุปความคิดของเขาในประเด็นสำคัญๆ ที่เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของสังคมแม้แต่ในอเมริกาเอง ไว้ดังต่อไปนี้
ว่าด้วย "หน้าที่ของคนรวย"
"(คนรวย) ควรใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่โอ้อวดให้เป็นเยี่ยงอย่าง หลีกเลี่ยงการแสดงออกที่ฟุ่มเฟือยและวิถีชีวิตแบบหรูหรา กันเงินจำนวนหนึ่งให้พอเพียงสำหรับความต้องการที่มีเหตุมีผลของคนที่พึ่งพาเขา (เช่นลูกหลาน) หลังจากนั้นก็ควรเอารายได้ส่วนเกินทั้งหมดที่ได้รับไปไว้ในกองทุน (trust fund) ที่เขาปวารณาตัวว่ามีหน้าที่บริหารจัดการในทางที่เชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ในแง่นี้คนรวยจะเป็นเพียงตัวแทนและผู้ดูแลผลประโยชน์ให้แก่พี่น้องในสังคมที่จนกว่าเขาเท่านั้น"
ว่าด้วย "การกุศลตามอำเภอใจ" (indiscriminate charity)
"เป็นเรื่องดีกว่าสำหรับมนุษยชาติ ถ้าจะโยนเงินล้านของเศรษฐีลงทะเล แทนที่จะใช้เงินนั้นในทางที่ส่งเสริมคนเกียจคร้าน คนมัวเมา และคนที่ไม่สมควรได้รับเงินนั้น ในทุกๆ ๑,๐๐๐ เหรียญที่อ้างว่าทำไปเพื่อการกุศลในปัจจุบัน ผมคิดว่ากว่า ๙๕๐ เหรียญถูกใช้ไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ในทางที่เอื้ออำนวยให้เกิดเรื่องเลวร้ายทั้งหลายที่การกุศลเหล่านั้นอ้างว่าจะช่วยบรรเทา"
ว่าด้วยภาษีมรดก
"ในบรรดาภาษีทุกรูปแบบ ผมคิดว่าภาษีมรดกเป็นภาษีที่ดีที่สุด คนที่สะสมความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตของพวกเขา ความมั่งคั่งที่ควรจะทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ควรจะถูกบังคับให้รู้สึกว่าสังคมซึ่งมีรัฐเป็นตัวแทน ไม่ควรจะถูกกีดกันจากสัดส่วนของความมั่งคั่งที่ควรจะได้รับ รัฐควรจะเก็บภาษีมรดกสูงๆ ตอนคนรวยตาย เพื่อลงโทษเศรษฐีผู้เห็นแก่ตัวที่ใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่า ผมคิดว่าทุกประเทศควรจะทำเช่นนี้ ว่ากันตามจริง เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดสัดส่วนของมรดกคนรวยที่ควรจะตกเป็นของรัฐเมื่อเขาตายลงอัตราภาษีทำนองนี้ควรเป็นขั้นบันได เริ่มจากศูนย์บนมรดกจำนวนพอประมาณที่เหลือไว้ให้ลูกหลาน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเม็ดเงินเพิ่มขึ้น"
ภาพวาดเหตุการณ์ Homestead Strike บนหน้าปกวารสาร Harper's Weekly ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 1892
ถึงแม้ว่าคาร์เนกีจะเป็น "นายทุนใจบุญ" อย่างมั่นคงไม่เสื่อมคลาย ก็ใช่ว่าเขาจะทำธุรกิจอย่างเปี่ยมสำนึกตามไปด้วย ตรงกันข้าม ประวัติของคาร์เนกีในฐานะนักธุรกิจเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ที่แม้หลายกรณีอาจไม่ถึงกับผิดกฎหมายเต็มๆ แต่ก็เป็นเรื่องผิดจรรยาบรรณหรือศีลธรรม กรณีที่สร้างความด่างพร้อยให้ประวัติของเขาที่สุดคือเหตุการณ์ปี ๑๘๙๒ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อ "Homestead Strike" เมื่อคนงานที่โรงงานเหล็กของคาร์เนกีนัดหยุดงานประท้วงเพื่อพยายามกีดกันไม่ให้บริษัทระบุในสัญญาจ้างงานว่า ลูกจ้างยินยอมจะไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานใดๆ (สัญญาจ้างงานแบบนี้เรียกว่า "yellow-dog contract" และเป็นเรื่องผิดกฎหมายแล้วในอเมริกาตั้งแต่ปี ๑๙๓๒) แล้วเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างคนงานกับนักสืบเอกชนติดอาวุธจากบริษัท Pinkerton National Detective Agency ที่โรงงานเหล็กจ้างให้มารับมือกับคนงานทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กันจนทำให้คนงาน ๗ คนถึงแก่ชีวิต
หลุมฝังศพของคาร์เนกีที่สุสาน Sleepy Hollow ในเมือง Sleepy Hollow รัฐนิิวยอร์ก
ถึงแม้ว่าตอนที่เกิดเหตุ Homestead Strike คาร์เนกีจะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ได้เป็นผู้บริหารบริษัทโดยตรงแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยปริปากพูดถึงเหตุการณ์รุนแรงระหว่างบริษัทกับพนักงานของตัวเองซึ่งยังเป็นที่โจษขานในแง่ลบจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้คาร์เนกีเองก็ไม่เคยใช้ชีวิตอย่าง "สมถะ" เท่ากับที่เขาชอบเรียกร้องให้เศรษฐีคนอื่นๆ ทำ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคาร์เนกีจะเป็น "นักธุรกิจสำคัญ" ผู้มีข้อบกพร่องและรอยด่างในชีวิตมากมายเกินกว่าที่ใครจะยกย่องให้เป็น "นักบุญ" ได้อย่างสนิทใจ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็น "นักการกุศล (ไม่) สำคัญ" ผู้มอบมรดกอันมีค่ามหาศาลและยั่งยืนให้แก่สังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และความเชื่อของเขาที่ว่า นายทุนทุกคนมี "หน้าที่" ที่จะต้องตอบแทนสังคมด้วยการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ก็เป็นแนวคิด (ไม่) สำคัญที่ควรได้รับการกล่าวขานและศึกษาวิเคราะห์มากกว่าประวัติการสร้างฐานะของตัวเขาเอง
Views: 4064
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 1 2 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >> |