เทคโนโลยีอื่นจากการใช้สนามแม่เหล็ก และไฟฟ้า |
|
|
หน้า 3 จาก 5
หน้า 3
เคล็ดไม่ลับของเตา
เตาหุงต้มเหนี่ยวนำมีส่วนประกอบหลักได้แก่ แผ่นเซรามิกสำหรับวางภาชนะ ขดลวดโลหะเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และวงจรไฟฟ้าควบคุมกระแสไฟ เมื่อไฟฟ้ากระแสสลับไหลเข้าขดลวดโลหะทำให้ขดลวดเกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กไฟฟ้าบนขดลวดจะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวนบนภาชนะ เมื่อกระแสไฟฟ้าวนไหลผ่านความต้านทานไฟฟ้าของกระทะหรือหม้ออย่างต่อเนื่อง จะทำให้กระทะร้อนขึ้น นี่คือหลักการทำงานของเตาหุงต้มเหนี่ยวนำ
เมื่อพูดถึงการเกิดกระแสไฟฟ้าโดยใช้การเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็ก เรามักจะนึกถึงการทดลองที่ทำในชั้นเรียนโดยการหมุนขดลวดผ่านแม่เหล็ก (แม่เหล็กอยู่กับที่) หรือหมุนแม่เหล็กผ่านขดลวด (ขดลวดอยู่กับที่) ซึ่งทั้งสองวิธีล้วนแล้วแต่เป็นการทำให้เส้นแรงของสนามแม่เหล็กที่ผ่านขดลวดมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากแม่เหล็กที่ใช้เป็นแม่เหล็กถาวรซึ่งมีเส้นแรงแม่เหล็กคงที่ดังนั้นหากแม่เหล็กและขดลวดอยู่นิ่งทั้งคู่ก็จะไม่เกิดการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าไหลในขดลวดได้ ขณะที่เตาหุงต้มเหนี่ยวนำใช้แม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าสลับทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กได้โดยแม่เหล็กไม่ต้องมีการเคลื่อนที่แต่ก็สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวนที่ภาชนะได้
ความร้อนเสริม
นอกจากความร้อนที่เกิดจากความต้านทานไฟฟ้าของโลหะแล้ว กระทะหรือหม้อที่วางบนเตายังได้ความร้อนจากการสั่นของไดโพลแม่เหล็ก(magnetic dipole) ขนาดเล็กในเนื้อเหล็กด้วย ด้วยเหตุที่สนามแม่เหล็กของขดลวดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (ที่เปิดเตา) จึงเหนี่ยวนำให้ไดโพลแม่เหล็กในเนื้อเหล็กมีการเคลื่อนไหวในลักษณะการสั่นอย่างรวดเร็ว และเสียดสีกันเกิดความร้อนเสริมกับความร้อนที่เกิดจากความต้านทานไฟฟ้า แต่ปริมาณความร้อนจากการสั่นของไดโพลแม่เหล็กจะน้อยกว่าความร้อนที่เกิดจากความต้านทานไฟฟ้า
|