หน้า 30 จาก 30
หน้า 30
วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554
มหันตภัยดาวเคราะห์ชนโลก!!ชี้'อังกฤษ-สหรัฐฯ'แทบไม่เหลือซาก
เดลิเมล์ - ถ้าคุณอาศัยอยู่ในอังกฤษ สหรัฐฯหรือจีน ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่บัดนี้ หลังนักวิทยาศาสตร์คาดหมายว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดในมหันตภัยดาวเคราะห์ชนโลกที่ส่อแววคืบคลานเข้ามา
การคาดคะเนดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่เหล่านักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าประเทศใดที่ต้องประสบหายนะภัยครั้งร้ายแรงที่ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากหรือได้รับความเสียหายจนแทบไม่สามารถฟื้นฟูคืนมาได้เลย
ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในรายชื่อลำดับต้นๆ ทว่า จีน อยู่ในข่ายนั้นเช่นกันสืบเนื่องจากแนวโน้มผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล กระนั้นก็ดีชาติเล็กๆอย่างสวีเดน ก็ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวงสืบเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขา
อันดับรายชื่อดังกล่าวรวบรวมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตันของอังกฤษ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่เรียกว่านีโออิมแพคเตอร์ ซอฟต์แวร์ซึ่งใช้สำหรับโครงการศึกษากรณีวัตถุใกล้โลกของนาซาหรือ "นีโอ"(Near Earth Object)
โดยรวมแล้ว 10 อันดับแรกของประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกมากที่สุดคือ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อิตาลี สหราชอาณาจักร บราซิลและไนจีเรีย
แต่หากดูจากความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียชีวิตพลเรือน สหรัฐฯ จีน อินโดนีเซีย อินเดียและญี่ปุ่น คือประเทศที่อันตรายมากที่สุด ขณะที่ชาติที่อาจต้องเผชิญหายนะใหญ่หลวงต่อโครงสร้างพื้นฐานได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและสวีเดน
ตัวอย่างแห่งภัยคุกคามของดาวเคราะห์เพิ่งปรากฎให้เห็นสดๆร้อนๆเมื่อวันจันทร์(27) หลังดาวเคราะห์ 2011 เอ็มดี (2011 MD) ขนาดใหญ่เท่าบ้าน เคลื่อนตัวพุ่งเฉียดโลก ห่างไปแค่ 7,500 ไมล์เท่านั้น ขณะที่นักดาราศาสตร์พบเห็นความเคลื่อนไหวของมันก่อนเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน แถมตอนแรกยังคิดว่าเป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนขยะอวกาศเท่านั้น
ก่อนหน้านี้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ณ ดินแดนห่างไกลใกล้แม่น้ำทังกัสกาของรัสเซีย มีผู้พบเห็นดาวเคราะห์เทียบกับวัตถุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เมตรระเบิดกลางอากาศ อันนับเป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดที่ตกกระทบโลกในช่วงชีวิตปัจจุบัน ขณะที่ นิค บาลีย์ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์นีโออิมแพคเตอร์ ชี้ว่าหากดาวเคราะห์ดังกล่าวเกิดระเบิดเหนือลอนดอน มันอาจกวาดล้างทุกสิ่งในรัศมี 25 ไมล์เลยทีเดียว
จากข้อมูลของ DailyGalaxy.com ระบุว่าดาวเคราะห์เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12 ไมล์ ก็สามารถทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้จนหมดสิ้น และสันนิษฐานว่าดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่านี้คือสาเหตุแห่งการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อน
พบชีวิตใหม่หลากสีในฟิลิปปินส์กว่า 300 สปีชีส์
ภาพจากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย เผยสปีชีส์ใหม่ของ “ปากกาทะเล” (sea pen) ที่จัดอยู่ในสกุล (genus) เวอเรทิลลัม (Veretillum) ซึ่งพบสัตว์ชนิดนี้ได้เฉพาะเวลากลางคืนเมื่อมันโพล่ขึ้นมาจากทราย และขยายติ่งเนื้อที่ดูคล้ายประกายดาวออกจับแพลงก์ตอนในน้ำ (เอเอฟพี)
ทีมสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพนำทัพโดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ค้นพบสิ่งมีชีวิตหลากสี ทั้งพืชและสัตว์ คาดเป็นสปีชีส์ใหม่กว่า 300 ชนิดในฟิลิปปินส์ ทั้งกุ้งมังกรไร้เปลือก ฉลามจิ๋วที่พองตัวหลอกศัตรูให้กลัว ระบุต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนยืนยันสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ทั้งหมด
สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (The California Academy of Sciences) www.calacademy.org เผยว่าได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ทั้งพืชและสัตว์มากกว่า 300 ชนิด ระหว่างการสำรวจทางบกและทางทะเลเป็นเวลา 42 วันเมื่อเร็วๆ นี้ ในหมู่เกาะขนาดใหญ่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังถูกคุกคามทางนิเวศน์
“หมู่เกาะฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในจุดที่มีความหลากหลายชีวภาพสูงสุดและสิ่งมีชีวิตถูกคุกคามมากที่สุดในโลก แม้ว่าเรายังไม่ทราบถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นทางการของที่นั่น แต่เราก็พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เกือบๆ ทุกครั้งที่เราดำน้ำและไต่เขา เพื่อสำรวจแนวปะการัง ป่าฝนและก้นมหาสมุทรของประเทศนี้” เอเอฟพีรายงานคำแถลงของ เทอร์เรนซ์ กอสไลเนอร์ (Terrence Gosliner) ในเว็บไซต์ของสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย
ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตอันโดดเด่นที่ทีมสำรวจค้นพบ มีทั้งฉลามขนาดเล็กที่สามารถพองตัวหลอกศัตรูด้วยการกลืนน้ำลงไปในกระเพาะตัวเอง ปลาดาวที่กินเฉพาะเศษไม้ที่ลอยมาตามน้ำ กุ้งมังกรชนิดใหม่ 3 ชนิด ปูมีหนามแหลมตรงก้ามเรียงกันคล้ายฟัน หรือตัวหนอนคล้ายปลาจิ้มฟันจรเข้ (pipefish) ซ่อนตัวอยู่ในแนวปะการังอ่อน
สิ่งมีชีวิตที่ค้นพบในครั้งนี้หลายชนิดตกจากการสำรวจก่อนหน้า เพราะขนาดที่เล็กเกินไป เช่น แมงมุมก็อบลิน (goblin spider) ปลิงทะเล (sea slug) และตัวเพรียง เป็นต้น และบางชนิดก็อยู่ในแหล่งที่ยากจะพบโดยมนุษย์ อย่างเช่น ปลาไหลงู (snake eel) ที่อาศัยอยู่ก้นมหาสมุทร และมอสซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงชันและอันตรายของภูเขาเมาท์อิซารอก (Mount Isarog) ที่สูงถึง 1,976 เมตร
หลังเสร็จสิ้นการสำรวจหมาดๆ เมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทีมวิจัยแถลงว่าพบสิ่งมีชีวิตที่น่าจะเป็นสปีชีส์ใหม่ 75 สปีชีส์ แต่พวกเขาไม่ได้ให้เหตุผลถึงตัวเลขคาดการ์ณสปีชีส์ใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นไปหลายร้อย บอกเพียงว่ากำลังเก็บตัวอย่างและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเดิม และจะยืนยันจำนวนสปีชีส์ใหม่ที่แน่ชัดในอีกหลายเดือนข้างหน้า ซึ่รวมถึงการศึกษาลงไปถึงระดับดีเอ็นเอด้วย
การค้นพบล่าสุดนี้ให้น้ำหนักแนวคิดที่ว่าแหล่งน้ำของฟิลิปปินส์เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสปีชีส์มากกว่าสิ่งแวดล้อมทางทะเลอื่นๆ บนโลก ซึ่งทางสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียได้เรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ขยายพื้นที่ปกป้อง สิ่งแวดล้อมทางทะเล และควบคุมขยะพลาสติกไม่ให้ไปสะสมที่ก้นมหาสมุทร อีกทั้งยังบอกอีกว่ามาตรการปกป้องระบบนิเวศน์ในปัจจุบันเป็นแค่ “เสือกระดาษ” ที่ไม่อาจหยุดยั้งการทำลายป่าและล่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติได้
“ปากกาทะเล” (sea pen) สปีชีส์ใหม่ที่สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียค้นพบ ซึ่งสัตว์ชนิดนี้จัดอยู่ในสกุล (genus) เวอเรทิลลัม (Veretillum) ในเวลากลางวันจะหลับอยู่ใต้ผืนทราย แล้วโผล่ขึ้นมาในตอนกลางคืน และขยายติ่งเนื้อที่ดูคล้ายประกายดาวออกจับแพลงก์ตอนในน้ำ (เอเอฟพี)
นักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนียโชว์ฉลามจิ๋วพันธุ์ใหม่ 2 ตัว ที่นำขึ้นมาจากทะเลลึก ระหว่างการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งฉลามชนิดนี้สามารถขยายกระเพาะตัวเองด้วยการกลืนน้ำลงไป เพื่อข่มขวัญนักล่าที่จะมาทำร้าย (เอเอฟพี)
ฉลามพันธุ์ใหม่ที่สามารถพองตัวด้วยการกลืนน้ำลงกระเพาะให้ตัวใหญ่ขึ้นเพื่อข่มขวัญศัตรู (เอเอฟพี)
เม่นทะเลพันธุ์ใหม่ที่มีสีแดงโดดเด่น (เอเอฟพี)
ปากกาทะเลในสกุล เทอโรไอด์ส (Pteroeides) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 100 มิลลิเมตร และไม่มีสีสันจัดจ้านเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่พบในการสำรวจครั้งนี้ และโผล่ออกมาจากพื้นทรายในเวลากลางคืน เพื่อจับแพลงก์ตอนเป็นอาหาร สัตว์ชนิดนี้ยังไม่ได้รับการจำแนกชัดเจน และยังมีลักษณะคล้ายปากกาทะเลสปีชีส์ใหม่ที่อยู่ในสกุล อัมเบลิอูลิเฟอรา (Umbeliulifera) (เอเอฟพี)
ปะการังอ่อนคล้ายต้นไม้ที่สูงได้ถึงครึ่งเมตรซึ่งพบเฉพาะในเขตน้ำลึก นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้จำแนกสัตว์ชนิดนี้ที่มีลักษณะคล้ายสปีชีส์ใหม่ที่อยู่ในสกุล อัมเบลิอูลิเฟอรา (เอเอฟพี)
ปะการังอ่อนสปีชีส์ใหม่ในสกุล เอฟฟลาทัวนาเรีย (Efflatounaria) ที่ปลายท่อสีน้ำตาลมีสาหร่ายทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหารให้ปากะรัง (เอเอฟพี)
ปลิงทะเลสปีชีส์ใหม่ชื่อ เนมโบรธา นูดิบรันช์ (Nembrotha nudibranch) ซึ่งสัตว์จำพวกหอยหมึกชนิดนี้ไม่ต้องมีเปลือกมาห่อหุ้มป้องกันอันตราย แต่สามารถผลิตสารพิษที่ทำให้ศัตรูนักล่าถอยห่างไปไกลๆ ได้ (เอเอฟพี)
ปูสปีชีส์ใหม่ที่มีซี่คล้ายฟันที่ก้าม (เอเอฟพี)
ปลิงทะเลสปีชีส์ เนมโบรธา นูดิบรันช์ (Nembrotha nudibranch) ที่ผลิตพิษออกมาไล่ศัตรูนักล่าได้ (เอเอฟพี)
ปลิงทะเลสปีชีส์ใหม่ กิมโนโดริส นูดิบรันช์ (Gymnodoris nudibranch) ผลิตออกมาไล่ศัตรูได้ (เอเอฟพี)
ปลิงทะเลสปีชีส์ใหม่ แอโอลิด นูดิบรันช์ (aeolid nudibranch) เป็นปลิงทะเลที่มีสีสันและผลิตพิษออกมาไล่ศัตรูได้เช่นกัน (เอเอฟพี)
ปลิงทะเลสปีชีส์ใหม่ แอโอลิด นูดิบรันช์ (aeolid nudibranch) ที่ผลิตพิษออกมาไล่ศัตรูได้เช่นกัน (เอเอฟพี)
หนอนสปีชีส์ใหม่ในสกุล ไมเรียนิดา (Myrianida ) ซึ่งพบอยู่ในเศษปะการัง
นาซากำหนดปล่อย “แอตแลนติส” ทะยานฟ้าครั้งสุดท้าย 8 ก.ค.
ลูกเรือทั้ง 4 ของแอตแลนติสถ่ายรูปหน้าฐานปล่อยจรวดที่ศูนยือวกาศเคนเนดี (จากซ้ายไปขวา) เรกซ์ วอเลม, แซนดรา แมกนัส, ดัก ฮัวร์เลย์ และ คริส เฟอร์กูสัน (เอเอฟพี)
นาซากำหนดวันปล่อย “แอตแลนติส” ครั้งสุดท้าย 8 ก.ค.นี้ ปิดฉากยุคกระสวยอวกาศ 30 ปี โดยส่งแค่ 4 นักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ ระบุจำกัดจำนวนคนเผื่อกรณีฉุกเฉินต้องส่งลูกเรือกลับด้วยกระสวยอวกาศโซยุซของรัสเซียที่ลำเล็กกว่า
องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กำหนดปล่อยกระสวยอวกาศแอตแลนติส (Atlantis) วันที่ 8 ก.ค.11 เวลา 23.26 น.ตามเวลาประเทศไทย จากฐานปล่อยจรวด 34 เอ (39A) ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในฟลอริดา สหรัฐฯ และจะนำลูกเรือทะยานฟ้ามุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้ายของนาซา
สำหรับลูกเรือที่จะเดินทางไปกับเที่ยวบินสุดท้ายนี้ ได้แก่ คริส เฟอร์กูสัน (Chris Ferguson) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน ดัก ฮัวร์เลย์ (Doug Hurley) นักบินประจำเที่ยว และผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน แซนดรา แมกนัส (Sandra Magnus) และ เรกซ์ วอเลม (Rex Walheim) ซึ่งสเปซด็อมคอมรายงานว่าทั้งหมดจะไปถึงศูนย์อวกาศเคนเนดีในวันที่ 4 ก.ค.11
เที่ยวบินของแอตแลนติสครั้งนี้จะเป็นเที่ยวบินที่ 135 ในโครงการกระสวยอวกาศของนาซาที่เริ่มต้นเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งมีกำหนดปฏิบัติภารกิจนาน 12 วัน โดยกระสวยอวกาศจะลำเลียงชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับสถานีอวกาศขึ้นไปด้วย เพื่อให้ห้องปฏิบัติการอวกาศยังคงทำงานต่อไปได้ แม้จะสิ้นสุดยุคกระสวยอวกาศแล้ว
ในภารกิจครั้งนี้รอยเตอร์ระบุว่า นาซาพยายามที่จะให้ลูกเรือ 4 คน ปฏิบัติภารกิจได้เท่ากับเที่ยวบินปกติที่มีลูกเรือ 6-7 คน โดยเหตุที่องค์การอวกาศสหรัฐฯ ต้องลดจำนวนนักบินอวกาศในเที่ยวบินสุดท้ายลง เพื่อให้มีจำนวนพอเหมาะที่จะโดยสารยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียกลับโลกในกรณีฉุกเฉิน หากยานแอตแลนติสได้รับความเสียหาย จนไม่ปลอดภัยที่จะนำกลับโลก
นับแต่โศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) ระเบิดเมื่อปี ค.ศ.2003 นาซาได้ตัดสินใจเตรียมกระสวยอวกาศลำที่สอง เพื่อเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่กู้ภัยหากจำเป็น แต่สำหรับเที่ยวบินสุดท้ายของแอตแลนติสนี้จะไม่มีกระสวยอวกาศสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน
ทั้งนี้ นาซากำหนดปลดระวางกระสวยอวกาศทั้งหมดภายในปีนี้ เพื่อปูทางสำหรับโครงการสำรวจอวกาศใหม่ที่เป้าหมายในการส่งนักบินอวกาศไปยังดาวเคราะห์น้อยและเป้าหมายอื่นในอวกาศที่อยู่ไกลออกไป โดยได้ปลดระวางยานดิสคัฟเวอรี (Discovery) และเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ไปก่อนหน้านี้แล้ว
Views: 28904
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >> |