โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มกราคม 2554
มาดามกูรี (ขวานั่ง) และไอรีน ลูกสาว (ซ้ายยืน)
ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ระดับโลก "มารี กู รี" เป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่หลายคนจะนึกถึง แม้คนที่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ก็น่าจะเคยได้ยินชื่อเธอมาบ้าง และเธอยังเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการ ทั้งยังคว้ารางวัลระดับโลกอีกหลายรางวัล ไม่ใช่เพียงรางวัล "โนเบล" ที่เธอขึ้นรับรางวัลถึง 2 ครั้ง ร่วมกับสามีและลูกสาว
มาดาม มารี กูรี (Marie Curie) หรือ มาเรีย สโกลโดวสกา (Maria Sklodowska) เกิดเมื่อ 7 พ.ย.ปี ค.ศ.1867 ในเมืองวอร์ซอว์ของรัสเซีย ซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ ในวัยเด็กเธอเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นและฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์บ้างจากพ่อ จากนั้นเธอได้เข้าศึกษาทางด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยชอร์บอนน์ (Sorbonne) ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส และเมื่อถึงปี 1894 เธอเข้าเรียนที่สถาบันฟิสิกส์ (School of Physics) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอได้พบรักกับ ศ.ปิแอรร์ กูรี (Pierre Curie) อาจารย์ฟิสิกส์ของสถาบัน และแต่งงานกันในปีต่อมา
มาดามกูรี (ขวานั่ง) และปิแอรร์ผู้เป็นสามี ภายในห้องแล็บที่ทั้งคู่ได้แยกธาตุโปโลเนียมและเรเดียม
มาดามกูรีรับตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยชอร์บอนน์ ต่อจากสามีและได้รับปฏิญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์ในปี 1903 แต่หลังจากนั้น 3 ปีเธอต้องสูญเสียสามีไปกับอุบัติเหตุรถชน และเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ทั่วไปของคณะวิทยาศาสตร์แทนสามี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้รับตำแหน่งนี้ อีกทั้งเธอยังเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการกูรี (Curie Laboratory) ในสถาบันเรเดียม (Radium Institute) ของมหาวิทยาลัยปารีส (University of Paris) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1914
สำหรับงานวิจัยแรกๆ ที่เธอทำร่วมกับสามีนั้น มักจะเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากหลายครั้ง ห้องปฏิบัติการไม่ค่อยมีความพร้อมนัก และทั้งคู่ยังต้องสอนหนังสืออย่างหนักเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายเพิ่ม และการค้นพบปรากฏการณ์แผ่รังสีของ อองรี เบคเคอเรล (Henri Becquerel) เมื่อปี 1896 ได้จุดประกายให้คู่สามี-ภรรยากูรีสร้างงานวิจัยและการวิเคราะห์ที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่การแยกธาตุโปโลเนียม (polonium) ที่ตั้งชื่อตามประเทศบ้านเกิดของมาดามกูรี และธาตุเรเดียม (radium)
ต่อมามาดามกูรีได้พัฒนาวิธีเพื่อแยกธาตุเรเดียมออกจากกากกัมมันตรังสี จนได้ปริมาณเพียงพอสำหรับศึกษาลักษณะเฉพาะของธาตุ คุณสมบัติ และคุณสมบัติในการบำบัดรักษาโรค ซึ่งเธอได้สนับสนุนให้ใช้ธาตุเรเดียมนี้เพื่อการบำบัดรักษาโลก และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอได้อุทิศตัวให้กับงานนี้โดยมีลูกสาวคือ ไอรีน กูรี (Irene Curie) เป็นผู้ช่วย อีกทั้งเธอยังได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางด้านรังสีอีกหลายแห่งในบ้านเกิดเมืองนอนของเธอเอง
มารี กูรี นักเคมีหญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง
ด้านนิสัยส่วนตัวนั้นมาดามกูรีเป็นคนเงียบๆ ถ่อมตัว และมีบุคลิกสง่างาม และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างให้ความนับถือและชื่นชมในตัวเธอ ส่วนความสำคัญในผลงานของเธอนั้นสะท้อนผ่านรางวัลจำนวนมาก เธอได้รับรางวัลอันทงเกียรติทางด้านวิทยาศาสตร์หลายรางวัล ในจำนวนนั้นเป็นรางวัลโนเบลถึง 2 สาขา โดยครั้งแรกเธอได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับสามีเมื่อปี 1903 จากการศึกษาการแผ่รังสีอย่างต่อเนื่อง และในปีเดียวกันนี้เธอกับสามียังได้รับรางวัลเหรียญเดวี (Davy Medal) จากราชบัณฑิตอังกฤษ ต่อมาเธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับไอรีนผู้เป็นลูกสาวเมื่อปี 1911 จากงานด้านกัมมันตภาพรังสี
นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้เป็นตำนานของโลกคนนี้ได้เสียชีวิตลงหลังจากป่วยได้ไม่นานในวันที่ 4 ก.ค.1934 ณ เมืองซาวัว (Savoy) ประเทศฝรั่งเศส
*** อ้างอิง ฟิสิกส์ 1901-1921 (Physics 1901-1921) ในวารสารโนเบล เลคเชอร์ส (Nobel Lectures) ซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เอลเซเวียร์ (Elsevier Publishing Company) เมื่อปี 1967 /เว็บไซต์ nobelprize.org
=======================================
ในจำนวนผู้ได้รับรางวัลโนเบล 817 คน “มารี กูรี” เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขา นั่นคือ สาขาฟิสิกส์ที่เธอได้รับรางวัลเมื่อปี 1903 ก่อนจะได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมี ในปี 1911
นอกจากนี้ ในบันทึกประวัติการมอบรับรางวัลโนเบลนั้น มีผู้ที่ได้รับรางวัลมากกว่า 1 สาขา เพียง 4 คน ซึ่งอีก 3 คนที่เหลือได้แก่ ลินุส เพาลิง (Linus Pauling) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 1954 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1962
จอห์น บาร์ดีน (John Bardeen) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1956 และปี 1972 และ เฟรเดอริค แซงเงอร์ (Frederick Sanger) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 1958 และ 1980
สำหรับผู้ที่ได้โนเบล 2 ครั้งนั้น ส่วนใหญ่จะได้รับในสาขาเดียวกัน หรือไม่ก็ในสาขาสันติภาพ เว้นเสียแต่ “มารี กูรี” ที่นอกจากจะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับถึง 2 รางวัลแล้ว เธอยังจะได้รับในสาขาวิทยาศาสตร์ถึง 2 สาขาอีกด้วย
Views: 3107
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved |