โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 29 เมษายน 2553

คลิกครับ
บรรยายความคิดเห็นผ่านทาง Facebook
สำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน หากอยู่ในวัยเบญจเพสขึ้นไป ก็คงจะคุ้นเคยกับวัสดุเก็บข้อมูลที่เรียกกันว่า ‘ฟลอปปีดิสก์’ หรือที่เรียกกันติดปากว่าไดร์ฟ-เอ หรือฟลอปปี-เอ เป็นอย่างดี
แต่ถ้าหากเป็นกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ อาจจะคุ้นๆ อยู่บ้าง แต่ส่วนมากมักจะนึกหน้าตาของมันไม่ค่อยออก เพราะว่าในปัจจุบันการเก็บข้อมูลนั้น ไม่ค่อยมีการใช้แผ่นฟลอปปีดิสก์สักเท่าไหร่ ค่าที่มันเก็บข้อมูลได้น้อย และทันสมัยสู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง ซีดี ดีวีดี หรือทัมป์ไดรฟ์ไม่ได้
ก็คงเป็นธรรมดาที่ของตกรุ่น ก็ต้องล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา
ล่าสุด บริษัทโซนี่ก็ได้ประกาศจะยกเลิกการผลิตแผ่นฟลอปปีดิสก์ ออกจากสายงานการผลิตของบริษัทแล้ว ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา โซนี่จะมียอดการจำหน่ายมากถึง 12 ล้านแผ่นก็ตาม
แต่ยอดขาย 12 ล้านแผ่นที่ว่านี้มันเป็นเพราะโซนี่เป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่บริษัทเดียว ที่ยังคงผลิตฟลอปปีดิสก์อยู่ต่างหาก
อันที่จริงวี่แววการจากไปของฟลอปปีดิสก์นั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่การที่แอปเปิล ไม่ยอมใส่อุปกรณ์อ่านฟลอปปีดิสก์ลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไอแมกของตนใน 1998 แล้ว ซึ่งตอนนั้นแอปเปิลก็โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่พอมาในปี 2004 บริษัทเดล และ เกทเวย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตพีซีรายใหญ่ ก็ดำเนินรอยตามแอปเปิ้ล
มาถึงวันนี้ หากเราเดินดูคอมพิวเตอร์ที่มีขายอยู่ตามร้านรวงต่างๆ ก็จะพบว่าไม่มีคอมพิวเตอร์ตัวไหนที่มีเครื่องอ่านฟลอปปีดิสก์ ติดมากับเครื่องเลย หรือนั่นจะเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วของการจากไปของฟลอปปีดิสก์...
รู้จักฟลอปปีดิสก์
ฟลอปปีดิสก์ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2513 เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยฟลอปปีดิสก์แผ่นแรกที่เกิดขึ้นมาในโลกนั้น มีขนาดใหญ่ถึง 8 นิ้ว เลยทีเดียว และมีความจุแค่ 80 กิโลไบต์เท่านั้น
หากจินตนาการไม่ออก ก็ลองคิดง่ายๆ ว่าหากจะเก็บเพลง 1 เพลง (โดยเฉลี่ยแล้วจะมีขนาด 4 เมกกะไบท์) ก็ต้องใช้แผ่นรุ่นแรกนี่ถึง 50 แผ่น แต่ต่อมาความจุของแผ่นก็ถูกพัฒนามาเป็น 256 กิโลไบท์ และใช้เวลาพัฒนาต่อมาอีก 10 ปี ก่อนที่จะลดขนาดแผ่นลงมาเป็น 5 นิ้วกว่าๆ และมีความจุประมาน 1.2 เมกกะไบท์
ซึ่งแผ่นรุ่นนี้นี่เอง ที่เข้ามามีบทบาทในเมืองไทย ถ้าใครเกิดทันก็คงจะจำโปรแกรมเวิร์ดจุฬา และเวิร์ด ราชวิถี ซึ่งเป็นโปรแกรมเวิร์ด โปรเซสเซอร์ (โปรแกรมพิมพ์งาน) โปรแกรมแรกๆ ของไทยกันได้ ซึ่งทั้งสองโปรแกรมนี้ก็ใช้เจ้าแผ่นฟลอปปีดิสก์นี่แหละเป็นตัวเก็บข้อมูล
ต่อมา ก่อนเข้าทศวรรษที่ 90 ฟลอปปีดิสก์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยปรับขนาดไปอยู่ที่ 3 นิ้วครึ่ง และมีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 1.44 เมกะไบต์ และใช้เป็นมาตรฐานเรื่อยมา
จวบจนเดินทางมาถึงวันนี้ วันที่แผ่นฟลอปปีดิสก์ จะจากไปอย่างเป็นการถาวร
เรื่องของคนร่วมสมัย (ก่อน)
“ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ยังเป็นเทคโลโลยีรุ่นเก่ามากๆ นะ จอยังเป็นจอเขียว จำได้ว่าคอมพ์เครื่องแรกของผมยังไม่มีฮาร์ดดิสก์เลย แต่ใช้แผ่นฟลอปปีดิส 5 นิ้วครึ่ง (จริงๆ มันมีขนาด 5 กับเศษหนึ่งส่วนสี่นิ้ว แต่คนทั่วไปเรียกติดปากกว่าเป็นแผ่น 5 นิ้วครึ่ง) เป็นตัวเก็บข้อมูล”
นั่นคือเสียงรำลึกความหลังของ กมล อุ่นชู นักบริหารองค์ความรู้ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ผู้ที่มีโอกาสได้สัมผัสเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ ที่เข้ามายังประเทศไทย
“คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของผมมันมีไดรฟ์อยู่ 2 ไดรฟ์ ใส่แผ่น 5 นิ้ว ได้ 2 แผ่น ไดรฟ์แรกเอาแผ่นดอส ใส่เข้าไป ส่วนไดรฟ์ที่สองก็เอาแผ่นที่มีโปรแกรมเวิร์ดจุฬาใส่ลงไป ก็ใช้งานได้ แต่ถัดมาในช่วงมหาวิทยาลัย คอมพิวเตอร์ก็เข้าสู่ยุคถัดมาซึ่งถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน คือไดรฟ์หนึ่ง เป็นขนาด 5 นิ้วครึ่ง ส่วนอีกไดรฟ์ เป็นขนาด 3 นิ้วครึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมา”
และเมื่อคอมพิวเตอร์แบบจอสีเข้ามา กมลก็ไม่รีรอที่จะหามาใช้งาน โดยเขาใช้งานมันเกี่ยวกับเรื่องของภาพเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า การทำงานกับภาพ ก็ย่อมจะมีขนาดของไฟล์ที่ใหญ่ขึ้นไปด้วย จนทำให้แผ่นฟลอปปีดิสก์ที่มีขนาดจุเพียง 1.44 เมกะไบต์ เริ่มไม่พอใช้งาน
“เครื่องสมัยก่อนมันประมวลผลช้า แรมก็มีน้อย ดังนั้นรูปที่ทำก็ขนาดไม่มาก แค่ 100 – 200 เค ก็หรูแล้ว ตอนนั้นซีดีออกมาแล้ว แต่ก็ยังมีราคาแพง นอกไปจากนั้นก็มีแผ่นซิปไดรฟ์ที่เก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นฟลอปปีดิสก์อีกด้วย แต่ซิปไดรฟ์นี่ไม่ค่อยนิยมกันเพราะมันต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะของมันในการอ่าน”
ซี่งเมื่อเราเอาเรื่องของการเอาข้อมูลจำนวนมากๆ ไป เก็บไว้ในฟลอปปีดิสก์มาลองคิดดูกับขนาดของไฟล์งานต่างๆ ในสมัยนี้ เราจะเห็นได้ว่า ฟลอปปีดิสก์นั้น มันเล็กและล้าสมัยเกินไปจริงๆ
“โอ้โห ! จินตนาการไม่ออกครับ คงต้องใช้ฟลอปปีดิสก์เป็นร้อย สมมติว่าต้นฉบับงาน 100 เมกฯ ก็ร้อยแผ่นแล้ว ดีวีดีแผ่นหนึ่ง 4 กิ๊กกว่าๆ ก็ต้องใช้ 4 พันแผ่น”
เป็นคำตอบที่ต้องอาศัยจินตนาการปริมาณมาก เมื่อเราถาม ปรัชญา สิงห์โต เว็บมาสเตอร์ f0nt.com วัย 28 ปี ว่า ด้วยปริมาณงานอย่างปัจจุบันนี้ ต้องใช้ฟลอปปีดิสก์กี่แผ่นเพื่อเก็บข้อมูล
สำหรับปรัชญา ที่เคยผ่านยุคฟลอปปีดิสก์มา (นั่นคงบ่งบอกอายุได้) เขาเล่าว่า สมัยก่อน เขาต้องเรียนวิชาแบ่งไฟล์ขนาดใหญ่ออกเป็นไฟล์ย่อยๆ เพื่อที่จะเก็บมันลงไปในฟลอปปีดิสก์หลายๆ แผ่น
แต่เขาก็บอกว่า มันไม่ใช่ความยุ่งยาก?
นั่นเป็นเพราะว่าในยุคนั้น เทคโนโลยีมีอยู่เท่านั้น ไม่มีตัวเลือกอื่น ขณะที่ปริมาณงานและพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ก็ยังไม่เหมือนยุคนี้
“เทคโนโลยีก็ทำให้ไฟล์ยังไม่ใหญ่มาก อย่างเกมเกมหนึ่งแค่ไม่กี่เมกฯ ก็เล่นได้แล้ว เกมหนึ่ง 3 เมกฯ ก็พกแผ่นไป 3 แผ่น แต่พอวันหนึ่งมีซีดีออกมา ทำไมแผ่นฟลอปปีดิสก์มันเล็กจัง สมัยนั้นถ้าลงวินโดวส์ก็ใช้แผ่น 9 แผ่น ลงออฟฟิศก็ใช้ 11 แผ่น ยังจำได้ แล้วก็ต้องมัดใส่กล่องรวมกัน ถ้ามันเจ๊งแผ่นหนึ่งก็เจ๊งทั้งแผง อ๋อ! แล้วก็ต้องเขียนเบอร์ด้วยว่าแผ่นไหนก่อนหลัง”
ซึ่งนั่นเป็นความหลังแสนหวาน ที่อยู่ในความทรงจำของคนรุ่นก่อน และมันก็กำลังจะกลายเป็นความทรงจำไปตลอดกาล
เจเนอเรชัน ‘ทัมป์ไดรฟ์’
แต่กับคนอีกรุ่นหรือเจเนอเรชันหนึ่ง ฟลอปปีดิสก์ อาจจะไม่มีความสำคัญหรือมีความหลังครั้งก่อนร่วมกับเขาเหล่านั้นเลย อย่างเช่น วิภาพรรณ วงศ์สว่าง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเธอทำกราฟิกดีไซน์เป็นงานอดิเรก เธอบอกว่ารู้จัก เคยเห็น
“แต่ไม่เคยใช้ เกิดไม่ทัน ตอนที่เขาใช้กัน ยังอยู่อนุบาล”
วิภาพรรณเล่าว่าใช้คอมพ์ครั้งแรกตอน ป.1 ซึ่งตอนนั้นเทคโนโลยีแผ่นซีดีก็เข้ามาในเมืองไทยแล้ว เธอจึงคุ้นเคยกับแผ่นซีดีรอมมาจนถึงชั้น ม.1 ซึ่งเธอใช้เก็บรูปภาพที่ถ่ายกับเพื่อนๆ
“ประมาณ ม.2 ก็เปลี่ยนมาใช้แฟลชไดรฟ์ แต่ยังไม่ค่อยได้เก็บข้อมูลมากนัก มันสะดวกกว่ามากๆ ซีดี ณ ตอนนั้น มันไม่ใช่ซีดีที่ไรต์ทับๆ กันได้ แต่ถ้าเป็นแฟลชไดรฟ์ เราจะลบหรือจะเก็บข้อมูล มันง่าย เดี๋ยวนี้แฟลชไดรฟ์ความจุเยอะๆ ก็มี เอาไปเสียบเครื่องอื่นก็ง่ายกว่าซีดีเยอะ”
ดังนั้น การที่แผ่นฟลอปปีดิสก์จะเหือดหายไปจากพิภพ จึงไม่ทำให้วิภาพรรณรู้สึกอะไร ในเมื่อทั้งเธอและเพื่อนๆ ต่างก็ไม่เคยใช้งานเจ้าฟลอปปีดิสก์เลย
แล้วในมุมมองของคนที่ติดตามข่าวสารในวงการไอทีอย่างใกล้ชิดล่ะ เขาจะมองเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง?
“เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของนวัตกรรมที่เจริญก้าวหน้าไป อีกขั้นหนึ่ง เพราะฟลอปปี-เอ มันจุไฟล์ได้แค่ 1.44 เมกะไบต์เอง มันเก็บอะไรไม่ได้อยู่แล้ว อย่างเพลงยังเก็บได้ไม่ครึ่งไฟล์เลย ขณะที่ในยุคนี้มันมีอะไรใหม่ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นซีดี ดีวีดี ยูเอสบี แฟลชไดรฟ์ เข้ามาแทนที่ ซึ่งถ้าเทียบในเชิงประสิทธิภาพแล้ว ก็มีสูงกว่า เข้ามาแทนที่”
นั่นเป็นความเห็นของ ซี-ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ พิธีกรรายการไอทีชื่อดัง ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเธอเป็นคนรุ่นทัมป์ไดรฟ์คนหนึ่ง เพราะถ้าพิธีกรรายการไอทียังใช้สื่อรุ่นคุณลุงอย่างฟลอปปีดิสก์อยู่ก็คงจะไม่งามเป็นแน่
“สำหรับตัวซีเองก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่ แต่เราคงตอบไม่ได้หรอกว่ามันควรจะมีอยู่ไหม เพราะเรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมผู้ใช้ เพราะอย่างเด็กๆ ก็ไม่ได้เล่นฟลอปปี-เอ กันแล้ว แต่ถามอีกมุมหนึ่งว่าเขาลืมไหม ซีคิดว่าคงไม่หรอก เพราะถ้าสังเกตดีๆ เวลาเซฟไฟล์ข้อมูลต่างๆ ปุ่ม Save As ของเรามันยังมีไอคอนของเรา มันยังมีไอคอนฟลอปปี-เอ อยู่เลย ทำไมมันถึงไม่เป็นรูปซีดีล่ะ เพราะมันเป็นต้นกำเนิดรุ่นแรกของการเซฟข้อมูลไง ทุกวันนี้ไมโครซอฟต์ออฟฟิศรุ่นใหม่ๆ เขาก็ยังเป็นรูปนี้อยู่เลยนะ ไม่เห็นจะเปลี่ยนเลย”
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง เชื่อขนมกินได้เลยว่า ในอนาคต อุปกรณ์เก็บข้อมูลจะต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีก ทั้งในด้านความจุ ความสะดวก และความเร็ว เช่น ยูเอสบีเวอร์ชัน 2 ที่เราใช้อยู่ก็คาดว่าจะคืบคลานเข้าสู่เวอร์ชันต่อไปในอีกไม่ช้านานนี้
และหากวันหนึ่ง อินเตอร์เน็ตยุค 3 จี เกิดขึ้นจริง การเก็บข้อมูลก็อาจจะเก็บไว้ในอินเตอร์เน็ต แทนที่จะเก็บใส่ทัมป์ไดรฟ์อันเล็กๆ ที่ชวนให้เผลอลืมได้ ถึงวันนั้น คนเราก็คงต้องฝากชีวิตไว้กับเทคโนโลยีมากกว่าที่เป็นอยู่
..........
****เกร็ดน่ารู้****
หล่นหายไปตามเวลา
เปล่าเลย ฟลอปปีดิสก์ไม่ใช่เทคโนโลยีเพียงประเภทเดียวที่ถูกเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าผลักไสให้เป็นโบราณวัตถุ แล้วจึงค่อยๆ หล่นหายไปจากเวที ไม่ได้บอกว่ามันหายไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าจำนวนคนที่ใช้สิ่งของเหล่านั้นจำกัดวงแคบเข้าทุกที บางอย่างเด็กรุ่นใหม่อาจต้องใช้จินตนาการแทนการนึกจากภาพที่เคยเห็น
หลายสิ่งอย่างที่ว่า ขอยกตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ สัก 4-5 อย่าง
- พิมพ์ดีด ถูกคิดค้นขึ้นในปี 2237 เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แล้ว มันช่างไม่สะดวกเลยกับการพิมพ์งานเอกสาร ยิ่งเมื่อไมโครซอฟต์เวิร์ดเข้ามา พิมพ์ดีด ไม่ว่าจะแบบใช้และไม่ใช้ไฟฟ้า ก็ค่อยๆ หายไป คงมีแต่คนรุ่นเก่าๆ หรือนักเขียนที่รักความคลาสสิกไม่กี่คนที่ยังใช้อยู่
- เครื่องเล่นวิดีโอเทป สร้างขึ้นในปี 2499 เชื่อว่าเด็กหลายคนอาจไม่รู้จักอุปกรณ์ชิ้นนี้ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้มีอันจะกิน ที่สามารถหาซื้อภาพยนตร์บรรจุกล่องมาดูที่บ้านได้ แต่เดี๋ยวนี้เหรอ? มันเทอะทะเกินไปแล้วเมื่อเปรียบกับแผ่นดีวีดีเล็กๆ เบาๆ สักแผ่น แถมคมชัดกว่า
- เทปคลาสเซ็ต ผลิตขึ้นในปี 2506 มันส่งผลอย่างแรงต่อวงการอุตสาหกรรมดนตรี ไม่น่าเชื่อว่าเพียง 4 ทศวรรษ เทปคลาสเซ็ตก็ถูกแทนที่ด้วยซีดีอย่างรวดเร็ว
- ฟิล์มถ่ายภาพ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2428 ในยุคที่การถ่ายภาพสามารถกดเก็บภาพได้ไม่จำกัด เพียงแค่มีเมมโมรีการ์ด ยังไม่ต้องพูดถึงกล้องที่ติดมากับโทรศัพท์มือถือ ฟิล์มจึงกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มช่างภาพมืออาชีพเท่านั้น ที่ยังคงหลงใหลสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าจำนวนพิกเซลล์ที่ลอยในอากาศ
- โทรเลข ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 2380 และไปรษณีย์ไทยก็เพิ่งประกาศหยุดบริการไปเมื่อปีที่แล้ว ก็จะมัวเสียค่าบริการเป็นคำคำ อยู่ทำไม ในเมื่อโทรศัพท์มือถือทำให้เราคุยกับใครก็ได้ในโลก ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ขอเพียงแค่มีสัญญาณโทรศัพท์
Views: 1352
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved |