สรินทร ลิ่มปนาท
เมื่อถึงหน้าร้อน คนส่วนใหญ่นิยมไปพักผ่อนชายทะเล การเก็บเปลือกหอยตามชายหาด เป็นกิจกรรมที่พบเห็น ได้บ่อยครั้ง เพราะสร้างความเพลิดเพลินได้มิใช่น้อย ท่านทราบหรือไม่ว่า เปลือกหอยเหล่านั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมสีของเปลือกหอยเหล่านั้นจึงแตกต่างกัน วันนี้เราจะอธิบายด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เคมี
จากความสวยงามทั้งรูปทรง สีสัน และลวดลาย เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ ทำให้มีผู้นิยมเก็บสะสมกันทั่วโลก เปลือกหอยมีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่ภายใต้เปลือกนั้นมากมาย เช่น เป็นเครื่องอำพรางอันตรายจากสัตว์อื่น เป็นสัญลักษณ์สื่อสารระหว่างสายพันธุ์ และช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ
แคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) เป็นองค์ประกอบหลักของเปลือกหอย สารประกอบชนิดนี้ เป็นของแข็งสีขาว มีค่าผลคูณของความสามารถในการละลาย (Ksp) ในน้ำ ที่อุณหภูมิ 25oC เท่ากับ 8.7x10-9 ซึ่งต่ำมาก ทำให้มีสมบัติไม่ละลายน้ำ การเกิดแคลเซียมคาร์บอเนตในเปลือกหอย เป็นปฏิกิริยาทางเคมี ที่เรียกว่ากระบวนการตกตะกอน (precipitation) เกิดจากการรวมตัวของประจุแคลเซียม (Ca2+, calcium ion) ที่ปลดปล่อยออกมาจากหอย และประจุคาร์บอเนต (CO2-, carbonate ion) ที่อยู่ในน้ำทะเล แล้วตกตะกอนของแข็งสีขาว ของแคลเซียมคาร์บอเนตออกมาก่อตัวเป็นเปลือกห่อหุ้มภายนอก
มาถึงตรงนี้ คงมีหลายคนกำลังสงสัยว่า แล้วประจุคาร์บอเนตในน้ำทะเลมาจากไหน ประจุคาร์บอเนตในน้ำทะเล เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับน้ำได้กรดคาร์บอนิก จากนั้นกรดคาร์บอนิก เกิดปฏิกิริยาแตกตัวต่อไป ได้ประจุไฮโดรเจนและประจุคาร์บอเนตตามลำดับ
สำหรับสีสันที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสารปนเปื้อน และของเสียที่ร่างกายขับออกมา แล้วถูกจับยึดแทรกตัว อยู่ในโครงสร้างของเปลือกหอย การสร้างสีของเปลือกหอยถูกควบคุมด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ โภชนาการและน้ำ ในบริเวณที่อยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น หอยในตระกูลคาวรี (cowry หรือ cowries) มักจะอาศัยอยู่ใน บริเวณที่มีปะการังอ่อนนุ่ม (soft coral) สีของเปลือกหอยชนิดนี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามสีของปะการัง เม็ดสีที่พบได้ในเปลือกหอย ได้แก่ เมลานิน (melanin) ซึ่งจะให้สีน้ำตาลและสีดำ แคโรธินอยด์ (carotenoids) จะให้สีเหลืองและสีส้ม สำหรับธิโรดิน (pterodines) จะให้สีเฉดแดง นอกจากนี้สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก ยังสามารถเปลี่ยนแปลงสีในระยะเวลาสั้นๆ ได้โดยใช้เม็ดสีที่อยู่ในเซลภายใต้ชั้นผิวหนังที่เรียกว่า โครมาโตฟอร์ (chromatophores)
เอกสารอ้างอิง
- Kerry K.Karukstis and Gerald R. Van Hecke, Chemistry connection, The Chemical Basis of Everyday Phenomena, Harcourt Academic Press, San Diego, 2000
|
Views: 2317
Only registered users can write comments. Please login or register. Powered by AkoComment Tweaked Special Edition v.1.4.6 AkoComment © Copyright 2004 by Arthur Konze - www.mamboportal.com All right reserved |