หน้า 1 จาก 2
สารคดี สิงหาคม 52
การส่งพลังงานแบบไร้สายด้วยต้นทุนต่ำเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมนุษย์ เพราะมันจะทำให้เขาเป็นนายเหนือท้องฟ้ามหาสมุทร และทะเลทราย ทำให้เขาสามารถขจัดความจำเป็นในการขุดเจาะ สูบ ขนส่ง และเผาผลาญเชื้อเพลิง และดังนั้นจึงกำจัดแหล่งที่มาไม่รู้จบของความสิ้นเปลืองอันชั่วร้าย
นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla, ๑๘๕๖-๑๙๔๓)
.....................
ในบรรดาสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตอันสะดวกสบายของคนสมัยนี้ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าธรรมชาติแทบทุกคนคงนึกถึงหลอดไฟฟ้าและระบบจ่ายไฟฟ้าของ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) อัจฉริยะผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากมายจนได้รับสมญา “พ่อมดแห่งเมนโลปาร์ก”
เอดิสันมิใช่นักประดิษฐ์ยุคปลายศตวรรษที่ ๑๙ “รุ่งอรุณแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่” เพียงคนเดียวที่เราสำนึกบุญคุณจวบจนปัจจุบัน ผู้ยิ่งใหญ่ร่วมรุ่นหลายคนเป็นตำนานที่คนทั่วไปจำขึ้นใจตั้งแต่สมัยเรียน อาทิ กูกลีเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) นักประดิษฐ์รางวัลโนเบลผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งวิทยุ” เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan) นายธนาคารผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือ จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse) ผู้คิดค้นเบรกรถไฟและเผยแพร่ระบบจ่ายไฟฟ้กระแสสลับที่เอาชนะระบบจ่ายไฟฟ้ากระแสตรงของเอดิสันในการต่อสู้อันน่าตื่นเต้นที่คนปัจจุบันรู้จักในชื่อ “สงครามคลื่น” (War of Currents
แต่ตอนนี้ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตเอดิสันอาจหัวเราะทีหลังดังกว่า เพราะระบบจ่ายไฟกระแสตรงแบบกระจายศูนย์ที่ใช้พลังงานทดแทน เช่นพลังแสงอาทิตย์และพลังลม กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ)
ถึงแม้ว่ายุครุ่งอรุณแห่งเทคโนโลยีจะมีคนที่เรายกย่องเป็น “วีรบุรุษ” มากมาย ชื่อของ นิโคลา เทสลา นักประดิษฐ์และวิศวกรชาวยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชีย) กลับเลือนหายไปจากกระแสสำนึกของสังคม ทั้งที่เขาไม่เพียงเป็นอัจฉริยะเจ้าของสิทธิบัตรกว่า ๓๐๐ รายการ หากยังเป็นบิดาแห่งวงการวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มีชื่อเสียงโด่งดังทัดเทียมเอดิสันในครึ่งแรกของชีวิต เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ (ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวสติงเฮาส์เอาชนะเอดิสันในสงครามคลื่นได้) ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ การกระจายเสียงผ่านวิทยุ และวิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้า อันเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา
การค้นพบเหล่านี้ล้วนเป็น “ฟันเฟือง” สำคัญที่ทำให้สังคมได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนจากงานของเอดิสัน มาร์โคนี เวสติงเฮาส์ และนักประดิษฐ์อีกจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยไม่อาจสัมฤทธิผลได้ถ้าปราศจากงานของเทสลา
นิโคลา เทสลา ในห้องทดลองของเขาี่ที่เมืองโคโลราโด สปริงส์ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๑๘๙๙ ถ่ายคู่กับเครื่องส่งกระแสไฟฟ้ายักษ์ ซึ่งมีความถี่สูงมากจนสามารถส่งกระแสไฟนับล้านวัตต์
มอเตอร์กระแสไฟฟ้าสลับของเทสลาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ ๑๐ ชิ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
แต่แล้ว เทสลากลับกลายเป็นคน (ไม่) สำคัญที่โลกลืมก่อนตัวเขาจะล่วงลับนานนับสิบปี ถูกเย้ยหยันจากนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและสังคมอย่างไม่ไยดี ตายอย่างยากไร้และเดียวดายในห้องน้ำของโรงแรมโกโรโกโสแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ไม่มีใครรู้วันตายที่แน่นอน งานทั้งชีวิตของเขาถูกรัฐบาลอเมริกันตีตรา “ลับที่สุด” และห้ามใครพูดถึงในที่สาธารณะจวบจน ๑๐๐ ปีให้หลัง
สาเหตุที่ชีวิตของนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่พลิกผันชนิดหน้ามือเป็นหลังมืออาจเป็นส่วนผสมระหว่างอัจฉริยภาพ นิสัยส่วนตัวตั้งแต่เกิด กับความบังเอิญ (บางคนอาจเรียกมันว่า “โชคชะตา”) ที่เล่น “ตลกร้าย” กับเขาอย่างเหลือเชื่อ
ดร. โรเบิร์ต โลมัส (Robert Lomas) คลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับบั้นปลายชีวิตของเทสลาไว้อย่างน่าประทับใจในบทความเรื่อง “Spark of Genius” ตีพิมพ์ในวารสาร The Independent วันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ผู้เขียนได้แปลและตัดต่อบางตอนมาพอสังเขป
<< หน้าแรก < ย้อนกลับ 1 2 หน้าถัดไป > หน้าสุดท้าย >> |