ไบโอดีเซล
ผู้เขียน: วลัยพร มุขสุวรรณ
หน่วยงาน: หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
วันที่: 25 ก.ย. 2549
ไบโอดีเซลคือเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม ซึ่งสามารถผลิตได้จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือสาหร่าย เป็นต้น ไบโอดีเซลมีการผลิตใช้ในเมืองไทยแล้วมีทั้งที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันเมล็ดสบู่ดำ และจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว
การผลิตไบโอดีเซล
ในทางเคมีไบโอดีเซลคือสารอินทรีย์ประเภทเอสเทอร์ที่ผลิตได้จากไขมันจากสิ่งมีชีวิตโดยใช้กระบวนการ transesterification ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยากันระหว่างไขมันหรือน้ำมัน (ไตรกลีเซอไรด์) กับแอลกอฮอล์ที่ได้จากชีวมวล (คือเอทานอลและเมทานอล ส่วนใหญ่จะใช้เมทานอลเพราะราคาถูกกว่าเอทานอล) ได้เป็นเอสเทอร์และกรีเซอรอล
ไตรกลีเซอร์ไรด์จะทำปฏิกิริยากับเมทานอลที่ผสมด่างแก่ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (โซเดียมไฮดรอกไซด์, โปแตสซัยมไฮดรอกไซด์ ส่วนใหญ่จะใช้โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์) ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาผันกลับได้ ดังนั้นจึงต้องใส่แอลกอฮอล์ให้มากเกินพอเพื่อผลักดันให้เกิดปฏิกิริยาเดินหน้าได้เอสเทอร์เต็มที่ การผลิตด้วยวิธีนี้สามารถให้เอสเทอร์ (yield) ได้ถึง 98 % เมื่อปฏิกิริยาสมบูรณ์แล้วสามารถแยกกรีเซอรีนซึ่งหนักกว่าเอสเทอร์ออกมาได้โดยการตั้งทิ้งไว้หรือใช้เครื่องปั่นแยกก็ได้ ในส่วนที่เป็นเอสเทอร์หรือไบโอดีเซลจะมีแอลกอฮอล์ที่เหลือจากปฏิกิริยาผสมอยู่ด้วยต้องทำการแยกแอลกอฮอล์เหล่านี้ออกก่อนโดยการระเหยหรือกลั่น แอลกอฮอล์ที่แยกได้สามารถเก็บกลับมาใช้ใหม่ได้
ข้อควรระวังในการผลิต
การผสมเมทานอลกับด่างแก่ก่อนที่จะใส่ลงไปทำปฏิกิริยากับไขมัน ต้องระมัดระวังการสัมผัสอย่างดี เนื่องจากสารตัวกลางที่ได้มีความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยามาก นอกจากสารตัวกลางที่ต้องระวังแล้ว เมทานอลและด่างแก่เองก็มีอันตรายในตัวเองด้วยเช่นกัน
ข้อควรระวังอีกประการหนึ่ง ได้แก่ เมทานอลที่เหลือจากปฏิกิริยาที่แยกออกจากไบโอดีเซลภายหลังด้วยการระเหย พบว่าในการผลิตทั่วไปมักจะปล่อยเมทานอลทิ้งไปในบรรยากาศ ถ้าเป็นการผลิตปริมาณน้อย ๆ ในสถานที่อากาศถ่ายเทสะดวกก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่หากเป็นการผลิตปริมาณมาก เมทานอลที่ปล่อยทิ้งจะมากตามไปด้วย จึงไม่ควรปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ แต่ควรเก็บเมทานอลกลับมาใช้ใหม่ เพราะเมทานอลเองเป็นสารที่ไวไฟสูง เป็นพิษต่อร่างกายหากสูดดมหรือสัมผัสโดนผิวหนังหรือกลืนกินเข้าไป นอกจากนี้ ในระยะยาวยังสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ด้วย
แหล่งข้อมูล
http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=6