การคำนวณเกี่ยวกับงาน
ซึ่งค่าของงานที่เกิดขึ้นสามารถคำนวณได้ ดังนี้
งาน = แรง x ระยะทางที่วัตถุเคลื่อนที่ไปตามแนวที่แรงกระทำ
W = Fs
ในการคำนวณหางานจะต้องคำนึงถึงหน่วยของงาน โดยระบุหน่วยที่ใช้ในการคำนวณหางานดังนี้
งาน มีหน่วยเป็น นิวตัน - เมตร หรือ จูล
แรง มีหน่วยเป็น นิวตัน
ระยะทาง มีหน่วยเป็น เมตร
หน่วยของงาน = หน่วยของแรง Χ หน่วยของระยะทาง
งาน (นิวตัน-เมตร) = แรง (นิวตัน) Χ ระยะทางในแนวที่แรงกระทำ (เมตร)
กำหนดให้ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 9.8 นิวตัน
พลังงาน
พลังงาน (energy) มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งพลังงานมีหลายรูปแบบ พลังงานกลเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแรงและการเคลื่อนที่ ผลรวมของพลังงานศักย์และพลังงานจลน์ เรียกว่า พลังงานกล โดยพลังงานจลน์เป็นพลังงานที่เกี่ยวข้องกับความเร็วของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ ส่วนพลังงานที่สะสมในวัตถุอันเนื่องมาจากตำแหน่งของวัตถุที่สูงจากพื้นโลกหรือระดับอ้างอิง จะเรียกว่า พลังงานศักย์โน้มถ่วง และเรียกพลังงานที่สะสมในวัตถุที่มีระยะยืดหรือระยะหดจากตำแหน่งสมดุลว่า พลังงานศักย์ยืดหยุ่น พลังงานสามารถเปลี่ยนแปลงจากพลังงานรูปหนึ่งไปเป็นพลังงานอีกรูปหนึ่งได้
พลังงาน คือ เป็นความสามารถในการทำงาน ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น พลังงานความร้อน พลังงานแสง พลังงานเสียง พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น พลังงานในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปของพลังงานรูปหนึ่งไปยังอีกรูปหนึ่งได้
นักวิทยาศาสตร์ได้จัดรูปแบบพลังงานตามความสัมพันธ์ในการเปลี่ยนรูปของพลังงาน
พลังงานศักย์ (potential energy) เป็นพลังงานที่ถูกสะสมอยู่ วัตถุจะมีพลังงานศักย์เพิ่มขึ้นขณะที่มันถูกยกสูงขึ้น ถูกบีบอัด หรือถูกยืด พลังงานนี้จะถูกสะสมไว้จนกระทั่งถูกปล่อยออก การดึงสายธนูเป็นการทำให้เกิดพลังงานศักย์ เมื่อปล่อยสายธนู พลังงานนี้จะถูกถ่ายโอนให้แก่ลูกศร ขณะที่ลูกศรเคลื่อนไป พลังงานศักย์จะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์
-
พลังงานกล = พลังงานจลน์ + พลังงานศักย์โน้มถ่วง
-
พลังงานจลน์ + พลังงานศักย์โน้มถ่วง = ค่าคงที่
-
ถ้าพลังงานจลน์มาก พลังงานศักย์จะน้อย
-
ถ้าพลังงานจลน์น้อย พลังงานศักย์จะมาก
พลังงานศักย์โน้มถ่วง (gravitational potential energy) เป็นพลังงานที่สะสมอยู่ในวัตถุ ที่อยู่สูงจากพื้นโลกขึ้นไป และวัตถุนั้นอยู่ในสนามแรงโน้มถ่วงของโลก วัตถุที่อยู่ห่างจากผิวโลก จะได้รับแรงโน้มถ่วงจากโลก เพื่อดึงวัตถุเข้าสู่ศูนย์กลางของโลก เกิดเป็นค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วง
ปัจจัยที่มีผลต่อพลังงานศักย์โน้มถ่วง คือ
-
มวลของวัตถุ วัตถุที่มีมวลมาก แรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อวัตถุนั้นจะมาก ทำให้ค่าของพลังงานศักย์โน้มถ่วงมาตามไปด้วย
-
ตำแหน่งที่อยู่ของวัตถุ เป็นระยะความสูงของวัตถุที่อยู่ห่างจากผิวโลก วัตถุที่อยู่ห่างจากผิวโลกมากจะสะสมค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วงไว้มาก ดังนั้น วัตถุที่อยู่สูงจะมีค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วงมากกว่าวัตถุที่อยู่ในระดับต่ำกว่า เมื่อวัตถุอยู่ ณ ตำแหน่งสูงสุดจะมีค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วงมากที่สุด และเมื่อวัตถุตกถึงผิวโลกจะมีค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วงหรือมีค่าพลังงานศักย์โน้มถ่วงเป็นศูนย์นั่นเอง
พลังงานจลน์ (kinetic energy) เป็นพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ ซึ่งวัตถุจะมีการเคลื่อนที่ที่แตกต่างออกไป เช่น น้ำไหล การพัด การหมุนของลูกข่าง
ปัจจัยที่มีผลต่อพลังงานจลน์ คือ
-
มวลของวัตถุ วัตถุที่มีค่าของมวลมากจะมีพลังงานจลน์มาก
-
ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ วัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจะมีพลังงานจลน์มากด้วย
พลังงานกล ประกอบด้วยพลังงาน 2 ชนิด คือ พลังงานจลน์กับพลังงานศักย์โน้มถ่วง ซึ่งสามารถเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาระหว่างกันและกันได้ ทำให้เกิดสมดุลของพลังงานขึ้น
จากภาพอธิบายได้ว่า ขณะวัตถุอยู่ในตำแหน่งสูงสุด วัตถุจะหยุดนิ่ง พลังงานศักย์โน้มถ่วงจะมีค่าสูงสุดส่วนพลังงานจลน์จะมีค่าต่ำสุดคือ เท่ากับศูนย์ เมื่อวัตถุเริ่มเคลื่อนที่ พลังงานศักย์โน้มถ่วงจะเริ่มลดลง เนื่องจากพลังงานโน้มถ่วงเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ และขณะวัตถุเคลื่อนที่ต่ำลงมาจนถึงตำแหน่งต่ำสุด พลังงานจลน์กลับมีค่าสูงสุด ส่วนพลังงานศักย์โน้มถ่วงมีค่าต่ำสุด คือ เท่ากับศูนย์ เนื่องจากพลังงานศักย์โน้มถ่วงทั้งหมดเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์นั่นเอง
กฎการอนุรักษ์พลังงาน
กฎการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า "พลังงานไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ หรือทำให้สูญหายไปได้ แต่พลังงานสามารถเกิดการถ่ายโอนระหว่างพลังงานด้วยกันได้ หรือการเปลี่ยนรูปพลังงานได้นั่นเอง" ในการนำพลังงานไปใช้ประโยชน์จึงต้องคำนึงถึงหลักการเปลี่ยนรูปของพลังงานอย่างคุ้มค่า การเปลี่ยนรูปพลังงาน เช่น
-
การเปลี่ยนรูปของพลังงานจากแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์เป็นต้นกำเนิดของพลังงานในโลก โดยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานเคมี แล้วเก็บสะสมไว้ในรูปเชื้อเพลิง เช่น ฟืน ถ่าน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เมื่อนำเชื้อเพลิงเหล่านี้ไปเผาไหม้ พลังงานเคมีจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานแสงต่อไป
ภาพ : การเปลี่ยนแปลงพลังงานจากแสงอาทิตย์

พลังงานแสงยังเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า เซลล์สุริยะ (solar cell)
-
การเปลี่ยนรูปพลังงานไฟฟ้า พลังงานจลน์จากน้ำ สามารถนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า ไดนาโม เมื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ พลังงานไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่นๆ ดังนี้
กฎการอนุรักษ์พลังงาน กับการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
-
การคมนาคมทางอากาศ การเคลื่อนที่และการขึ้นลงของเครื่องบิน จะเกี่ยวข้องกับการลดระดับหรือเพิ่มระดับความสูงของเครื่องบิน
-
ระบบการจ่ายน้ำประปาไปตามบ้านเรือน จะปล่อยน้ำจากถังพักน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในระดับสูงให้ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำกว่าตามแรงโน้มถ่วงของโลก
-
การเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อระบายน้ำไปสู่ท้องที่ที่ทำการเกษตรในยามขาดแคลนน้ำ
-
การทำงานของลิฟต์ ที่ใช้ขนลำเลียงคนและสิ่งของขึ้นลงในตึกสูงๆ
-
กระเช้าไฟฟ้า ซึ่งใช้ข้ามแม่น้ำ ใช้เดินทางระหว่างอาคาร หรือนั่งพักผ่อนชมทิวทัศน์ในสวนสนุก
-
การทำงานของเครื่องเล่นต่างๆ ในสวนสนุก เช่น เรือไวกิ้ง ชิงช้าสวรรค์ เป็นต้น
-
การใช้พลังงานน้ำจากเขื่อนกักเก็บน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยนำพลังงานน้ำหมุนไดนาโม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งไปใช้ตามบ้านเรือน เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เป็นต้น
พลังงานความร้อน
พลังงานความร้อน เป็นพลังงานที่สามารถถ่ายเทจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เมื่อวัตถุดูดกลืนพลังงานความร้อนจะทำให้วัตถุมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงเกิดการถ่ายเทพลังงานความร้อนให้กับวัตถุอื่นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ซึ่งต้นกำเนิดของพลังงานความร้อนมาจากดวงอาทิตย์ การลุกไหม้ของเชื้อเพลิง และจากพลังงาน
พลังงานความร้อนกับอุณหภูมิ
อุณหภูมิ (temperature) คือ ระดับความร้อนในเนื้อของวัตถุ ทราบได้จากการวัดด้วยเทอร์มอมิเตอร์ ซึ่งมีอยู่หลาบแบบ เทอร์โมมิเตอร์จะบอกระดับความร้อน
น้องๆ ทราบหรือไม่ว่า เราใช้อุปกรณ์อะไรในการวัดอุณหภูมิ? อุปกรณ์ที่เราใช้วัดอุณหภูมิก็คือ เทอร์โมมิเตอร์ นั่นเอง เราใช้เทอร์โมมิเตอร์เพื่อวัดอุณหภูมิ โดยมีหลักการใช้ที่เราควรจำ คือ
การใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ
-
จุ่มเทอร์โมมิเตอร์ในของเหลวที่ต้องการวัด โดยให้แท่งเทอร์โมมิเตอร์อยู่ในแนวดิ่ง
-
ให้กระเปาะของเทอร์โมมิเตอร์จุ่มอยู่ในของเหลว โดยไม่ให้ตัวกระเปาะสัมผัสกับภาชนะที่บรรจุ
-
ในการอ่านค่าของอุณหภูมิต้องรอให้ระดับของเหลวในเทอร์โมมิเตอร์มีการขยายตัว หรือหดตัวคงที่เสียก่อน และให้ระดับของเหลวในเทอร์โมมิเตอร์ตรงกับระดับสายตา
พลังงานความร้อนกับการเปลี่ยนสถานะของสาร
สารที่ได้นำพลังงานความร้อนที่ได้รับไปใช้ในการเปลี่ยนสถานะ ซึ่งเราเรียกว่า ความร้อนแฝงของสาร
ปริมาณความร้อนที่นำไปใช้ในการเปลี่ยนสถานะของสารจำนวน 1 กิโลกรัม เรียกว่า ค่าความร้อนแฝงของสาร ในการเปลี่ยนสถานะของสารจะมีความสัมพันธ์กับพลังงานความร้อนใน 2 ลักษณะคือ
-
การดูดพลังงานความร้อน คือ สารนั้นต้องการให้พลังงานความร้อนในการเพิ่มอุณหภูมิหรือเปลี่ยนสถานะ โดยการสลายแรงยึดเหนี่ยวของอนุภาค
-
การคายพลังงานความร้อนของสาร คือ สารนั้นไม่ต้องการใช้พลังงานความร้อน แต่ต้องการลดอุณหภูมิและเปลี่ยนสถานะโดยการสร้างแรงยึดเหนี่ยวของอนุภาค
เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของน้ำ "เมื่อน้ำแข็งได้รับพลังงานความร้อน อุณหภูมิจะไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากน้ำแข็งนำความร้อนไปใช้ในการเปลี่ยนสถานะ ซึ่งเรียกค่าพลังงานที่ใช้ในการเปลี่ยนสถานะของน้ำแข็งเป็นน้ำว่า ความร้อนแฝงของการหลอมเหลว เมื่อให้ความร้อนต่อไปเรื่อยๆ น้ำจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น แต่สถานะยังเป็นของเหลวเหมือนเดิม เมื่อน้ำเดือดอุณหภูมิจะคงที่อีกครั้ง แต่สถานะเปลี่ยนจากของเหลว เป็นไอ เรียกว่า ค่าความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอ"
ในสารทุกชนิดจะมีค่าความร้อนแฝง 2 ค่าที่แตกต่างกัน โดยค่าความร้อนแฝงที่กลายเป็นไอ จะมีค่ามากกว่า ความร้อนแฝงของการหลอมเหลวเสมอ
แผนภาพ : แสดงการเปลี่ยนสถานะของน้ำ
การถ่ายโอนพลังงานความร้อน
การถ่ายโอนพลังงานความร้อน เป็นการถ่ายเทพลังงานระหว่างที่สองแห่งที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน ด้วยวิธีการนำความร้อน และการแผ่รังสีความร้อน จากบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่าไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า จนกระทั่งอุณหภูมิทั้งสองบริเวณเท่ากัน จึงหยุดการถ่ายเทพลังงาน ลักษณะของการถ่ายโอนพลังงานความร้อนมี 3 แบบ ดังนี้
-
การนำความร้อน
-
การพาความร้อน
-
การแผ่รังสีความร้อน
การนำความร้อน
เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนด้วยการที่พลังงานความร้อนเคลื่อนที่ผ่านวัตถุที่เป็นตัวกลางซึ่งอยู่กับที่ โดยส่งผ่านความร้อนต่อๆ กันไปจนปลายทาง
วัตถุที่มีสมบัติในการถ่ายโอนพลังงานความร้อนได้รวดเร็ว จัดเป็นตัวนำที่ดี
วัตถุอยู่กับที่ ความร้อนเคลื่อนที่ผ่านไป

-
ตัวนำความร้อน คือ วัตถุที่ยอมให้พลังงานความร้อนเคลื่อนที่ผ่านไปได้ โลหะทุกชนิดมีสมบัติเป็นตัวนำความร้อน โดยเฉพาะเงิน นำความร้อนได้ดีที่สุด
-
ฉนวนความร้อน คือ วัตถุที่ไม่ยอมให้พลังงานความร้อนผ่านไปได้ อโลหะทั้งหลายล้วนมีสมบัติเป็นฉนวนความร้อน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ แก้ว พลาสติก ยกเว้นแกรไฟต์ที่เป็นตัวนำความร้อน
การพาความร้อน
การพาความร้อน เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนที่ต้องอาศัยตัวกลาง โดยที่ตัวกลางเคลื่อนที่ติดไปกับพลังงานความร้อนด้วย เช่น การต้มน้ำ ความร้อนจากด้านล่างภาชนะถูกพาขึ้นมาด้านบนของภาชนะได้ เนื่องจากของเหลวและก๊าซ เมื่อได้รับพลังงานความร้อน จะขยายตัวลอยสูงขึ้น จึงพาความร้อนจากด้านล่างขึ้นมายังด้านบนของภาชนะได้
การถ่ายโอนความร้อนที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ได้แก่ การเกิดลม ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ในอากาศ โดยอากาศร้อนจะขยายตัวและลอยสูงขึ้น ในขณะที่อากาศเย็นจะเคลื่อนเข้าไปแทนที่ เช่น การเกิด "ลมบกลมทะเล"
ซึ่งการถ่ายโอนความร้อน โดยการพาความร้อน มีอากาศเป็นตัวกลาง หรืออนุภาคของตัวกลางนั้น เป็นตัวพาความร้อน
การแผ่รังสีความร้อน
เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากบริเวณที่ร้อนกว่าไปยังบริเวณที่เย็นกว่าได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ดังนั้นในสุญญากาศก็สามารถเกิดการแผ่รังสีความร้อนได้ เช่น การแผ่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์มายังโลก ความร้อนจากกองไฟที่แผ่รังสี ความร้อนเป็นรัศมีออกมาโดยรอบแหล่งกำเนิด เป็นต้น ภาพตัวอย่างการแผ่รังสีความร้อน
จากนั้น น้องๆ มาศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง การถ่ายเทความร้อน
สมดุลความร้อน
สมดุลความร้อน เป็นการถ่ายโอนพลังงานความร้อนจากวัตถุที่มีพลังงานความร้อนภายในสูงให้กับวัตถุที่มีพลังงานความร้อนภายในต่ำกว่า จนอุณหภูมิภายในของวัตถุทั้งสองเท่ากันด้วยวิธีหารนำความร้อน การพาความร้อน และการแผ่รังสีความร้อน
เมื่อวัตถุได้รับความร้อนด้วยการถ่ายโอนความร้อนจากต้นกำเนิดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม จะส่งผลให้วัตถุมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ สถานะ และขนาดของวัตถุได้ ซึ่งควรจะระมัดระวังในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันต่อไป
จากนั้นน้องดูภาพ สมดุลความร้อน ต่อไปนี้
จากภาพ สรุปว่า "น้ำในขวดรูปกรวยมีพลังงานความร้อนสูงกว่าน้ำในบีกเกอร์ จึงถ่ายโอนพลังงานความร้อนให้กับน้ำในบีกเกอร์ จนมีอุณหภูมิเท่ากัน จึงหยุดถ่ายเทพลังงาน เรียกว่า สมดุลความร้อน นั่นเอง"
พลังงานความร้อนกับการขยายตัวของวัตถุ
เมื่อวัตถุได้รับพลังงานความร้อนจะขยายตัว และเมื่อวัตถุคายความร้อนจะหดตัวได้ วัตถุต่างชนิดกันจะขยายตัวได้ไม่เท่ากัน เมื่อให้พลังงานความร้อนเท่ากัน ของแข็งจะขยายตัวได้น้อยกว่าของเหลวและก๊าซตามลำดับ
ของแข็งต่างชนิดกันจะขยายตัวได้ไม่เท่ากัน ของเหลวต่างชนิดกันก็ขยายตัวได้ไม่เท่ากัน แต่ก๊าซต่างชนิดกันขยายตัวได้เท่ากัน
น้ำ มีการขยายตัวและหดตัวแตกต่างจากสารอื่น เนื่องจากเมื่อลดอุณหภูมิลงจนถึง 4 องศาเซลเซียสน้ำจะมีความหนาแน่นน้อยที่สุด แต่เมื่อลดอุณหภูมิลงจนต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส น้ำจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น
การขยายตัวของวัตถุ เกิดจาก
-
วัตถุจะขยายตัวเมื่อเพิ่มความร้อน หดตัวเมื่อลดความร้อน
-
วัตถุในสถานะของแข็งเป็นการเพิ่มหรือลดขนาด
-
วัตถุในสถานะของเหลวและก๊าซเป็นการเพิ่มหรือลดปริมาณ
การดูดกลืนแสงและการคายความร้อนของวัตถุ
การแผ่รังสีความร้อนก่อให้เกิดพลังงานรังสีความร้อนเป็นส่วนใหญ่ที่เรียกว่า รังสีอินฟาเรด ซึ่งเป็นรังสีที่มองไม่เห็น เมื่อรังสีตกลงบนวัตถุ วัตถุนั้นจะดูดกลืนพลังงานความร้อนบางส่วนไว้ ทำให้พลังงานความร้อนและอุณหภูมิภายในวัตถุเพิ่มขึ้น
ซึ่งวัตถุใดมีสีเข้มก็จะดูดกลืนรังสีอินฟาเรดและคายรังสีอินฟาเรดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนแก่วัตถุได้ดีกว่าวัตถุที่มีสีอ่อน
ประโยชน์ของการดูดกลืนแสงและคายความร้อนของวัตถุ
-
ทำตู้อบพลังแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการดูดกลืนความร้อนและการเก็บกักความร้อน ทำให้ภายในตู้อบมีพลังงานความร้อนสูงกว่าปกติ
-
กล่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการรับพลังงานจากแสงอาทิตย์โดยตรง ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำให้แห้งมาตากแดด เพื่อรับแสงอาทิตย์โดยตรง และจัดทำอุปกรณ์ขึ้นป้องกันฝุ่น ผง และน้ำค้างได้
-
เครื่องกลั่นน้ำพลังแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการดูดพลังงานแสงอาทิตย์ ด้านในตู้ทำด้วยวัสดุดูดแสงสีดำ ซึ่งจะดูดพลังงานจากแสงอาทิตย์ไว้จนเกิดความร้อนและทำให้น้ำที่บรรจุอยู่ภายในระเหยสู่ด้านบน จากนั้นไอน้ำจะคายความร้อนออกเมื่อกระทบกับกระจกด้านบนและควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำบริสุทธิ์ในที่สุด
-
การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีหลักการ โดยเริ่มจากใช้ขั้วไฟฟ้าต่างชนิดกัน เมื่อขั้วไฟฟ้าทั้งสองได้รับพลังงานแสงอาทิตย์จะเกิดความต่างศัก์ของกระแสไฟฟ้าระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้งสอง จึงเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นในวงจร และเรียกเครื่องมือที่ใช้เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าว่า เซลล์สุริยะ
-
การเลือกสีผ้าเพื่อสวมใส่ในฤดูร้อน ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เพราะสีอ่อนจะไม่ดูดความร้อนมาก เมื่อสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบาย
-
การเลือกสีทาภายในบ้านหรืออาคาร ให้เลือกสีที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น บ้านในเขตร้อน ควรเลือกทาสีภายในบ้านเป็นสีอ่อน เพราะจะดูดกลืนความร้อนน้อย ทำให้รู้สึกเย็นสบาย
ที่มาข้อมูล : คู่มือครูสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (สสวท) กระทรวงศึกษาธิการ
วัชพงษ์ โกมุทธรรมวิบูลย์ และคณะ แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1
ประดับ นาคแก้ว และคณะ หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1(หนังสือเรียนมาตรฐานแม็ค)