คำพยากรณ์ที่ 29 : สงครามเชื้อโรคในมหาสมุทรอาร์คติก Si grande famine par onde pestifere, Par pluie longue le long du pole arctique : Samarobryn cent lieuew de lhemisphere, Vivront sans loi exempt de politique. (VI,5)
คำแปล จะเกิดทุพภิกขภัยอย่างร้ายแรง อันสืบเนื่องมาจากคลื่นที่ทำให้เกิดเชื้อโรค ฝนจะนำเชื้อโรคนี้มาจากขั้วโลกอาร์คติก ในขณะเดียวกัน ดาวที่มีปีกดวงหนึ่ง จะโคจรอยู่ห่างจากพื้นโลก 270 ไมล์ จะไม่มีหลักเกณฑ์ทางการเมืองหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหลืออยู่อีกเลย
ตีความและวิเคราะห์ จากคำพยากรณ์บทนี้แสดงว่า ฝ่ายตะวันออกยังไม่พึงพอใจกับผลของการทำลายล้างมนุษยชาติที่เกิดจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของตน และจะโปรยเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรงลงเหนือน่านฟ้าของมหาสมุทรอาร์คติก จากนั้นลมและฝนก็จะเป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคนี้กระจายลงใต้ ไปยังประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และยุโรปทางตอนเหนือ จากข้อความในคำพยากรณ์นี้แสดงว่า การโจมตีด้วยอาวุธเชื้อโรคครั้งนี้กระทำจากยานอวกาศที่โคจรเหนือพื้นโลก 270 ไมล์ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงในอนุสัญญานครเจนีวาทุกประการ ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารจะบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือเพราะผลของการใช้อาวุธเชื้อโรคในครั้งนี้ สองบรรทัดแรกของคำพยากรณ์ในบทนี้ ดูคล้าย ๆ กับว่าเป็นการจงใจกล่าวย้ำถึงภาพเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วในคำพยากรณ์หมายเลขที่ 25 คือ ย้ำถึงเรื่องทุพภิกขภัย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่ามีความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากคลื่นของระเบิดเพาะเชื้อโรค และฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจะเป็นพาหะนำเชื้อโรคที่มีความร้ายกาจนี้แพร่ไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก สิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นผลจากความร้ายแรงของเชื้อโรคนี้ ถ้ามองอย่างผิวเผิน จะเข้าใจว่าเป็นผลระยะยาวของการแผ่รังสีจากระเบิดนิวเคลียร์ ดังที่ได้บรรยายไว้ในคำพยากรณ์หมายเลขที่ 25 แต่ความจริงแล้ว เป็นผลของการใช้อาวุธเชื้อโรคที่มีอันตรายร้ายแรงมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์หลายเท่าเสียอีก นางจีน ดิกสัน โหรในกรุงวอชิงตัน เคยพยากรณ์ไว้เหมือนกันว่า ประเทศจีนจะใช้อาวุธเชื้อโรคชนิดร้ายแรงในการทำสงครามครั้งต่อไป ถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามแนวที่นอสตราดามุสกล่าวไว้เป็นนัย ๆ ในคำพยากรณ์บทนี้จริง เราก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า จีนจะเป็นผู้ใช้อาวุธเชื้อโรคแบคทีเรียชนิดนี้ ในแถบขั้วโลกบริเวณมหาสมุทรอาร์คติก และโดยวิธีนี้เองฝ่ายจีนจะสามารถทำให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกถึงกับเป็นอัมพาต ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้อย่างเต็มที่ อาวุธเชื้อโรคที่นำมาใช้ในแถบนี้จะมีประสิทธิภาพ ในการทำลายล้างสูงมาก เนื่องจากบริเวณมหาสมุทรอาร์คติกเป็นย่านที่มีความกดอากาศสูง ลมที่เกิดจากบริเวณนี้จะพัดเข้าสู่บริเวณทางใต้ และจะพัดพาเชื้อโรคร้ายแรงแพร่ไปซีกโลกเหนือ นับตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรของโลกขึ้นมาเลยทีเดียว เชื้อโรคที่ร้ายกาจนี้จะแพร่กระจายไป พร้อมกับความชื้น ทั้งเมฆฝนและพายุจะช่วยกระจายเชื้อโรคนี้ไปทั่วบริเวณสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ และทั่วพื้นที่บริเวณยุโรปอื่น ๆ บางส่วน ซึ่งจีนถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจในขณะนั้น ส่วนประเทศจีนเองจะไม่มีโอกาสได้รับผลร้ายแรงของเชื้อโรคที่ตนใช้ในครั้งนี้เลย เพราะภูมิอากาศของจีนได้รับอิทธิพลมาจากลมมรสุมที่พัดผ่านมาจากทางใต้ เป็นที่น่าสนใจว่า นักพยากรณ์รุ่นใหม่ 2 ท่าน คือ จีน ดิกสัน และ เอ็ดการ์ เคย์ซี ได้พยากรณ์ไว้เหมือนกันว่า ช่องแคบเดวิสซึ่งอยู่ระหว่างเกาะบัฟฟินและเกาะกรีนแลนด์ จะเป็น เส้นชีวิต ของสองชาตินี้ ช่องแคบเดวิสนี้จะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะสหรัฐอเมริกา แคนาดาและรัสเซียจะใช้เป็นเส้นทางตรง เพื่อติดต่อถึงกันผ่านทางมหาสมุทรอาร์คติก เป็นไปได้ไหมที่จีนใช้อาวุธเชื้อโรคโจมตีในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีทำลายเส้นทางคมนาคมเส้นนี้ ? คำพยากรณ์ของนอสตราดามุส ซึ่งเกี่ยวกับการใช้อาวุธเชื้อโรคโจมตีครั้งนี้ ได้เปิดเผยสิ่งลึกลับที่ไม่มีใครคาดถึง โดยในบรรทัดที่ 3 ของคำพยากรณ์ ได้กล่าวเป็นนัย ๆ ถึงจุดที่จะใช้ปล่อยอาวุธแบคทีเรียเพื่อโจมตีที่ต่าง ๆ เอาไว้ โดยนอสตราดามุสเขียนไว้ว่า อาวุธนี้จะถูกปล่อยจาก สมาโรบริน (Samarobryn) ซึ่งอยู่ห่างจากบรรยากาศ (ของโลก) 100 ลีค (Leagues) จากข้อความนี้มีประเด็นที่พึงนำมาวิเคราะห์ดังต่อไปนี้ ประการแรก เราควรวิเคราะห์ก่อนว่า คำว่า 100 ลีค ที่ว่านี้น่าจะเป็นระยะทางไกลเท่าใดกันแน่? ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ลีคเป็นมาตราวัดที่ใช้กันในทวีปยุโรป หนึ่งลีคมีระยะทางประมาณ 2.5 - 4.5 ไมล์ การประมาณระยะทางหนึ่งลีคว่ามีระยะเท่าใดนั้น สามารถจะคำนวณได้ตามคำพยากรณ์อื่น ๆ ของนอสตราดามุส เช่น ที่เขียนบรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า โบสถ์เซนต์-ปอล-เดอ เมา-โซล ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเกิดของนอสตราดามุส ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโรน (Rhone) เป็นระยะทาง 3 ลีค ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตราการวัดในสมัยนี้แล้ว ปรากฏว่าโบสถ์แห่งนี้อยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำโรนเป็นระยะทาง 8.1 ไมล์ ดังนั้น 1 ลีค จึงประมาณ 2.7 ไมล์ เมื่อคำนวณโดยวิธีนี้ก็จะสามารถเทียบได้ว่า 100 ลีค เท่ากับระยะทาง 270 ไมล์ ประการที่สอง คำว่า จากบรรยากาศของโลก ก็เป็นคำที่น่าสนใจ เป็นการใช้คำที่ถูกต้องตรงกับความจริงในปัจจุบัน เพราะวัตถุที่โคจรรอบโลกห่างจากทุก ๆ จุดของบรรยากาศของโลก 270 ไมล์นั้น แสดงว่าจะต้องโคจรในอวกาศ นอสตราดามุสใช้คำว่าบรรยากาศ (Hemisphere) ตรงกับศัพท์ที่ใช้ในวงการอวกาศสมัยใหม่ เพราะไม่ใช้คำว่าห่างจากพื้นโลก เนื่องจากการวัดระยะห่างจากพื้นโลกไปยังแนวโคจรในอวกาศ (Space) นั้น จะมีระยะห่างไม่แน่นอน เมื่อวัดจากจุดต่างของผิวโลก การวัดจากจุด ๆ หนึ่งอาจจะใกล้กว่าวัดจากอีกจุดหนึ่งก็ได้ ประการที่สาม คำว่า สมาโรบริน (Samarobryn) เป็นคำสนธิสองส่วน คือ สมาระ หมายถึง ปีกเมล็ดพันธุ์พืช กับโอไบร์ (Obire) เป็นภาษาละติน หมายถึง เร่ร่อน ท่องเที่ยว หรือ โคจร และคำว่าโอไบร์นี้เป็นอกรรมกริยา (คำกริยาที่ไม่เรียกหากรรม) จะใช้บรรยายเกี่ยวกับวัตถุบนฟากฟ้า ส่วนคำว่า สมาระ น่าจะมีความหมายในเชิงอุปมาอุปไมยมากกว่า คือ น่าจะหมายถึงเมล็ดพืชบางชนิดที่มีลักษณะกลม ๆ มีปีกตรงกลางยื่นออกมา อาจจะปีกเดียวหรือสองปีก เมื่อนำเอาข้อวิเคราะห์เหล่านี้มารวมกัน ก็น่าจะสรุปประเด็นได้ว่านอสตราดามุสกล่าวถึงวัตถุที่มีโครงสร้างกลม ๆ มีปีกยื่นออกมาและโคจร อยู่ในอวกาศ ห่างจากบรรยากาศโลก 270 ไมล์ ซึ่งในสมัยปัจจุบัน สิ่งนี้น่าจะเป็นดาวเทียมหรือยานอวกาศนั่นเอง สิ่งสำคัญที่น่าสนใจก็คือ ปัจจุบัน ประเทศจีนยังไม่ยอมเซ็นสัญญา ในข้อตกลงห้ามใช้อาวุธเชิงรุกจากอวกาศ อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วงต่อไปนี้ ประเทศจีนอาจจะมีขีดความสามารถสูงพอในการที่จะส่งยานหรือสถานีอวกาศไปโคจรในอวกาศก็ได้ เป็นที่ยอมรับกันว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถบอกได้ว่าดาวเทียมต่าง ๆ ที่โคจรอยู่นั้น ๆ ติดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ยังไม่มีขีดความสามารถพอที่จะบอกได้ว่ายานอวกาศที่โคจรอยู่นั้นติดอาวุธแบคทีเรียหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ประเทศจีนอาจจะฉกฉวยโอกาสที่ตนไม่ได้เซ็นสัญญาไว้ในข้อตกลงห้ามใช้อาวุธเชิงรุกจากอวกาศ รวมทั้งความด้อยของเทคโนโลยี ในการตรวจจับนี้ ปฏิบัติการตรงตามคำพยากรณ์ของนอสตราดามุสก็ได้ | |
คำพยากรณ์ที่ 25 26-28 29 30 31 32-33 34 35 36 37 38 39-40 41 42-46 47-49 50-52 53-54 55-57 58
|