ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๕๒
ภาพกษัตริย์โกลิยนครได้รับส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ มาถึงนครแล้ว พระราชินีปลาบปลื้มจนสิ้นสติยืนทรงตัวเองไม่ได้จนต้องเกาะผู้อื่น (ดูที่ซีกขวามือของภาพ), ครั้นหายแล้ว ก็รับพวงมาลา (ซีกซ้ายมือของภาพ) ไปเพื่อทำการบูชา, แล้วทำการบูชาด้วยท่าต่าง ๆ (ริมล่างของภาพ) ตามแบบของถิ่นนั้นและยุคนั้น. เป็นอันว่าพระราชินีองค์เดียวกันนั้น ถูกแสดงในภาพเดียวนี้ ด้วยท่าทางต่าง ๆ กันมากกว่า ๖-๗ ท่า. นี้เป็นวิธีของศิลปินอินเดียแห่งยุคนั้น ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งทีเดียว.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี ยุคกลางจวนยุคปลาย สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๕๒
ภาพแบบอมราวดีภาพนี้ เป็นภาพการบูชาพระสารีริกธาตุที่กษัตริย์นครหนึ่งได้รับส่วนแบ่งมา
ดังที่กล่าวแล้วในภาพที่ ๕๐-๕๑,
เมื่อมาถึงนครของตนแล้ว,
ในภาพภาพเดียวนี้ มีการแสดงรวมกันอยู่ถึง
๔ ฉาก คือกษัตริย์ผู้ชาย ซึ่งมีนาคบนศีรษะหลายเศียร หรือตั้ง ๗ เศียรเหล่านั้น
เป็นผู้นำพระสารีริกธาตุใส่ผอบมา ดังที่ปรากฏอยู่บนบัลลังก์ตรงหน้านั้นเอง.
ทางขวามือริมสุดเคียงข้างบัลลังก์นั้น เป็นภาพพระราชินีแห่งนครนั้น กำลังยินดีปรีดามากเดินไปจนถึงขนาดจะเป็นลม
ต้องเกาะผู้อื่นไว้ และเป็นกษัตริย์ด้วยกัน โดยที่มีเศียรนาคปรากฏอยู่บนศีรษะคนละเศียรทุกคนเหมือนกัน.
ส่วนทางซ้ายมือริมสุด ทางด้านตรงกันข้ามนั้น คือพระราชินีนั้นเอง เมื่อหลังจากหายลำบากด้วยความปีติแล้ว
ก็รับพวงมาลาจากคนใช้มาทำการบูชาพระสารีริกธาตุนั้น. ส่วนทางด้านล่างตรงหน้าบัลลังก์นั้นก็คือพระราชินีอีกนั่นเอง
กำลังทำการอภิวาทด้วยท่าทางต่าง ๆ กัน ตามแบบฉบับของชาวอินเดียภาคนั้นโดยตรง;
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จะได้เล็งถึงการกระทำของพระราชาในภาคอื่น
ๆ ศิลปินก็ย่อมทำไปตามแบบฉบับแห่งภาคของตนเอง.
เนื่องจากศิลปกรรมอมราวดีแห่งอินเดียใต้
เป็นศิลปกรรมของพวกที่บูชานาคเป็นของสูง จึงเอาสัญลักษณ์นาคนั้นมาใช้แก่กษัตริย์ทั่วไป
แม้ที่มิได้อยู่ทางอินเดียใต้ หรือบูชานาคเหมือนตนเอง, ในภาพนี้ เชื่อกันว่าเป็นภาพของกษัตริย์โกลิยวงศ์แห่งรามคามใกล้
ๆ กับศากยวงศ์แห่งกบิลพัสดุ์ ซึ่งอยู่ในอินเดียภาคเหนือ ไม่เกี่ยวกับการยกย่องนาคเลย,
แต่เมื่อเป็นภาพที่สลักขึ้นทางอินเดียใต้ โดยศิลปินอินเดียใต้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง
ที่จะต้องใส่สัญลักษณ์นาคลงไปเพื่อความยิ่งใหญ่หรือสง่าราศี, จนทำให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องเข้าใจไปว่า
เป็นเรื่องในเมืองนาคไปก็ได้. ข้อนี้เช่นเดียวกับภาพพุทธประวัติที่เขียนในประเทศจีน
มีอะไรเป็นจีนไปหมด จนผู้ดูจะต้องเผลอตัวไปว่าพระพุทธองค์เกิดในเมืองจีนเป็นคราว
ๆ ไปทีเดียว กว่าจะจบเรื่องก็แทบแย่ เพราะต้องคุมสติจนเวียนหัว.
จากภาพนี้ อาจจะศึกษาสิ่งต่าง
ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของอินเดียใต้ไม่น้อยเลย เช่นท่าทางของการบูชาในอิริยาบถต่าง
ๆ. เครื่องแต่งกายและภาชนะเครื่องใช้สอย, ฉัตรและบัลลังก์รูปร่างประหลาด
ตลอดจนถึงลวดลายต่าง ๆ ของแบบนั้น ๆ กระทั่งลายกลีบบัวที่วงขอบเป็นต้น
ล้วนแต่น่าสนใจ ในการศึกษาแม้ในแง่ของโบราณคดีและมานุษยวิทยา, จะได้ไม่ตื่นเต้นหรือประหลาดใจในเมื่อได้เห็นอะไรแปลก
ๆ ต่อไปในกาลข้างหน้า, ย่อมจะดีกว่าที่จะรู้แต่แบบไทยของตนอย่างเดียว.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๕๒
|