ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๕๑
ภาพการได้รับส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ แล้วใส่ผอบ (แบบอมราวดี) วางเหนือคอช้างพาไป. มีกระดิ่งที่ท้องช้างบางตัว
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๕๑
ภาพแบบอมราวดีภาพนี้ เป็นภาพกษัตริย์ประเทศต่าง
ๆ ที่ได้รับส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ แล้วนำกลับประเทศของตน ๆ โดยใส่ผอบทรงสูงยอดแหลมวางเหนือหัวช้างพาไป,
ขอให้เปรียบเทียบรูปร่างของผอบแบบนี้กับผอบแบบสาญจี ในภาพที่แล้วมา ดูให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนด้วย
จะมีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมหรือประเพณีต่าง ๆ ของอินเดียได้มากขึ้น.
ในภาพนี้ มีช้าง ๗ ช้าง
เท่าจำนวนกษัตริย์ที่ยกกองทัพมาติดนครในตอนแรกพอดี โดยไม่นับผู้แทนประเทศที่มาช้าไม่ทันเวลาอีกเมืองหนึ่ง.
นครที่ส่งผู้แทนมาอ้างสิทธิขอแบ่งทั้ง ๗ นครนั้นคือ พระเจ้าอชาตศัตรูจากประเทศมคธ,
กษัตริย์ลิจฉวีจากนครเวสาลี, กษัตริย์ศากยะจากนครกบิลพัสดุ์, กษัตริย์พูลีจากอัลลกัปปะ,
กษัตริย์โกลิยะจากนครรามคาม, กษัตริย์มัลละจากนครปาวา, และพราหมณ์จากนครเวฐทีปะ,
รวมเป็นแปดนคร ทั้งนครกุสินารานั้นเองด้วย, ทั้งแปดนครนี้ล้วนแต่ได้ส่วนพระสารีริกธาตุโดยตรง
รายที่มาช้าไปนั้นคือกษัตริย์แห่งนครปิปผลิวน จึงได้รับเพียงพระอังคารในที่ถวายพระเพลิงไปแทนพระสารีริกธาตุโดยตรง.
เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาผอบที่วางเหนือหัวช้างนั้น
มีแปลกอยู่ผอบหนึ่ง คือที่ช้างตัวริมซ้ายบนสุด; และช้างตัวริมล่างขวาสุดมีกระดึงผูกที่ท้อง
ซึ่งยังเป็นการกระทำที่ยังอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ในอินเดียภาคใต้บางแห่ง.
ประโยชน์อันนี้ น่าจะไม่ใช่เพื่อความไพเราะหรือสวยงาม หากแต่เพื่อเป็นสัญญาณอันตรายอันจะเกิดจากช้างที่ไม่สุภาพ
เช่นเดียวกับในประเทศไทยเราทางภาคใต้ใช้เกราะไม้ไผ่เล็ก ๆ แบบหนึ่งแขวนใต้คอช้างนั้นเหมือนกัน.
ช้างตัวที่กล่าวนี้ กำลังก้าวออกประตูเมืองมา. คนนั่งท้ายช้างล้วนแต่ถือแส้
จะเป็นแส้ปัดแมลง หรือแส้สัญญาณอะไรบางอย่างก็ยังไม่ทราบได้, แต่สำหรับการปัดแมลงนั้นจำเป็นมาก
เพราะเหลือบชนิดหนึ่งจะรบกวนอย่างยิ่งทั้งแก่ช้างและคนขี่ช้าง ต้องถือแส้คอยปัด
จนกระทั่งในที่สุดก็กลายเป็นประเพณี หรือเครื่องประดับเกียรติอย่างหนึ่งไป
ต้องมีไว้เสมอไม่ว่าจะมีแมลงกวนหรือไม่ก็ตาม, และนี่เองคือต้นกำเนิดของสิ่งประดับเกียรติในขบวนช้าง
ขบวนม้าในกาลต่อมา.
ประตูเมืองแบบอมราวดีนี้
ผิดจากแบบสาญจีและภารหุตอย่างคนละทิศละทางทีเดียว ควรจะสังเกตไว้ด้วย.
ส่วนทรวดทรงของคนและช้างนั้นสละสลวยตามเคยของแบบนี้. ซึ่งแบบสาญจีและภารหุตไม่มีทางที่จะสู้ได้,
และทั้งคล้ายแบบไทยเราอีกนั่นเอง.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๕๑
|