ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๕๐ ก.-ข.

|
ภาพที่ ๕๐ ก.
ภาพกองทัพของกษัตริย์ต่างนคร ยกมาติดนครของมัลลกษัตริย์ เพื่อบังคับให้แบ่งพระสารีริกธาตุซึ่งกุมเอาไว้ทั้งหมด. ส่วนทางริมบนสุดซ้ายมือนั้น เป็นภาพพวกที่ได้รับส่วนแบ่งพระธาตุแล้ว ใส่ผอบวางเหนือคอช้างของตน ๆ พาไป.
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)
|

|
ภาพที่ ๕๐ ข.
ภาพนี้ติดเนื่องในหินแท่งเดียวกันกับภาพ ๕๐ ก. มาทางขวามือ (ของผู้ดู) ขอให้สังเกตดูจากลวดลายนั้น ๆ. เป็นเรื่องเดียวกัน คือยกกองทัพมาบังคับให้แบ่งพระธาตุ ครั้นได้แล้วก็พาไป. ภาพทั้งสองนี้มีทางทำการศึกษาศิลปะเปรียบเทียบ ระหว่างศิลปะเปอร์เชีย, กรีก, อินเดีย ได้โดยง่าย
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)
|
คำอธิบายภาพที่ ๕๐ ก.-ข.
ภาพที่ ๕๐ นี้ต้องดูพร้อมคราวเดียวกันไป
ทั้งภาพ ๕๐ ก. และ ๕๐ ข. โดยนำมาต่อกันเข้าเป็นภาพยาวภาพเดียว จึงจะเข้าใจได้ง่าย,
การต่อนั้น ให้ทางริมขวาสุด (ของผู้ดู) ของภาพ ก. ไปต่อเข้ากับทางริมซ้ายสุดของภาพ
ข. กลายเป็นภาพหอรบเชิงเทินของเมืองมัลละอยู่ตรงกลางภาพ และมีกองทัพยกมาประชิดทั้งสองข้าง
ก็จะเป็นเรื่องที่สมบูรณ์ คือกองทัพนครต่าง ๆ ยกมาบังคับให้มัลลกษัตริย์แบ่งพระสารีริกธาตุ
ครั้นได้แล้วก็ใส่ผอบวางเหนือศีรษะช้างพาไป.
ในภาพ ก. นั้น ทางตอนขวามือเป็นภาพประตูเมือง
หอรบเชิงเทิน มีคนประจำอยู่ตามช่อง : คนข้างนอกก็ยิงเข้าไป คนข้างในก็ยิงออกมาด้วยลูกศร.
ภาพถัดจากหอรบเชิงเทินออกไปทางซ้ายมือนั้น ต้องแบ่งออกเป็นสองครึ่ง คือครึ่งบนและครึ่งล่าง.
ครึ่งล่างเป็นภาพของกองทัพที่กำลังยกเข้ามารบ มีพลช้าง พลม้า พลเดินเท้า
ซึ่งถือศร หอก และโล่, ที่ท้ายขบวนมีธงซึ่งยอดธงมีเครื่องหมายตรีรตนะ,
ส่วนทางครึ่งบนนั้น เป็นภาพกองทัพตอนที่ได้รับแบ่งพระสารีริกธาตุแล้ว ใส่ผอบวางเหนือศีรษะช้างพาไป,
มีธงอย่างเดียวกัน อยู่ท้ายขบวนอีกตามเคย ดังที่วิจารณ์แล้วในภาพที่
๓๐ ในตอนที่ว่าด้วยธงชนิดนี้
ในภาพ ข. ก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน
คือครึ่งล่างมีพลเดินเท้า พลม้า พลรถ และพลช้างเข้าไปติดนคร, ครึ่งบนมีภาพการได้รับพระสารีริกธาตุใส่ผอบพาไปบนหัวช้าง,
มีธงชนิดที่กล่าวแล้วอยู่ท้ายขบวนทั้งสองขบวนอีกเหมือนกัน ดูเป็นการระมัดระวังในการสลัก
อย่างที่จะให้ขาดเสียมิได้.
ตรงที่ภาพทั้งสองท่อนต่อกันที่ตรงกลางนั้น
มีภาพโทณพราหมณ์อยู่ในซุ้มจั่วหน้ามุขปรากฏอยู่ (แต่ภาพนี้ถูกตัดผ่าออกเป็นสองซีก
อยู่ทางท่อน ก. ซีกหนึ่ง, ทางท่อน ข. ซีกหนึ่ง จึงดูไม่ออก เว้นไว้แต่จะตัดเอามาต่อกันเข้าให้สนิทเท่านั้น)
เป็นการแสดงภาพตอนที่มีการปรองดอง อย่าให้ต้องรบกันโดยยอมแบ่งพระสารีริกธาตุให้แก่ทุกเมือง.
จากภาพนี้ เราจะสังเกตเห็นประพิมพ์ประพายของศิลปะเปอร์เชีย
แม้กระทั่งอียิปต์และโรมัน ในภาพพลทหาร เครื่องผูกสอด ท่าทางยิงศรและอื่น
ๆ อีกบางประการ ทำให้คิดและเชื่อว่า ศิลปะประเภทนี้คงเนื่องถึงกันมาแต่กาลก่อน,
และเป็นความจริงที่สันนิษฐานกันว่า กษัตริย์ผู้สร้างสถูปสาญจีนี้ ได้ว่าจ้างศิลปินระดมมาจากที่ไกลสุดที่จะทำได้
และมีการติดต่อกันอยู่แล้วกับต่างประเทศใกล้เคียง เช่นเปอร์เชียเป็นต้น
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศก (ก่อนหน้าการสร้างสถูปสาญจีของราชวงศ์สุงคะเพียงร้อยกว่าปี)
จึงรวบรวมช่างต่างประเทศหรือที่รับอิทธิพลช่างต่างประเทศเหล่านั้นเข้ามา.
มีอยู่ส่วนหนึ่งในการสลักภาพเหล่านี้, จึงมีภาพหลายอย่างที่สถูปสาญจี ที่แสดงว่าเป็นแบบของต่างประเทศมิใช่แบบของอินเดียโดยบริสุทธิ์
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง
ก็คือภาพของผอบที่วางอยู่บนหัวช้างนั้น มีรูปร่างเหมือนกับผอบจริงที่ขุดได้จากสถูปต่าง
ๆ ที่บริเวณสาญจีนั้นเลยทีเดียว, ทำให้เชื่อได้ว่าผอบหรือกล่องใส่พระธาตุในที่นั้น
แห่งยุคนั้น ทำรูปร่างอย่างนั้น, และเหมือนกันทั้งที่สาญจีและภารหุต. ต่อเมื่อถึงยุคและถิ่นอมราวดีจึงได้แปลกออกไปดังเช่นในภาพที่
๕๑ เป็นต้น. ผู้ที่ถือผอบนั่งคอช้างและถือขอช้างนั้นคือตัวกษัตริย์หรือตัวแม่ทัพเอง,
คนที่นั่งถัดไปทางท้ายช้างเป็นเพียงคนรับใช้หรือผู้ช่วย.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๕๐ ก.-ข.
|