ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๗
ภาพปางปรินิพพาน (แสดงภาพพระพุทธองค์ด้วยสัญลักษณ์ คือสถูปรูปบาตรคว่ำ) มีการถวายบังคมพระบรมศพ และการบรรเลงด้วยเครื่องบรรเลงรูปร่างแปลก มีบางอย่างซึ่งชาวอินเดียยอมรับว่า ในบัดนี้หาของจริงดูไม่ได้แล้ว ยังมีอยู่แต่ในภาพเช่นนี้. แถมมีภาพเทวดามีปีก ซึ่งจะต้องถกกันดูว่า ใหม่หรือเก่ากว่าเทวดาแบบฝรั่ง หรือใครเอาอย่างใคร.
(จากหินสลักแบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๗
ภาพที่ ๔๗ นี้ เป็นภาพพระพุทธองค์ปางปรินิพพาน.
ผู้ดูควรจะเปิดข้ามไปดูภาพที่ ๔๘
และ ๔๙
เพื่อการเปรียบเทียบดูเสียก่อนจะช่วยให้เข้าใจอะไรบางอย่างได้เร็วขึ้นจากการเปรียบเทียบนั้น.
ภาพที่ ๔๗ เป็นแบบสาญจี, ภาพที่
๔๘ เป็นแบบภารหุต, และภาพที่
๔๙ เป็นแบบอมราวดี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนเองด้วยกันทั้งนั้น ทั้งในส่วนทรวดทรงของสถูป
และเครื่องประกอบหรือประดับ ที่เป็นมาตรฐานของศิลปกรรมสกุลนั้น ๆ.
ปัญหาข้อแรกที่จะต้องสนใจมีอยู่ว่า
ภาพพระสถูปเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ทั้งของพระศพที่ปรินิพพานใหม่ ๆ และของพระสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในประเทศต่าง
ๆ ที่ได้รับแบ่งพระสารีริกธาตุไป. ทำให้ต้องวินิจฉัยกันว่า ภาพสถูปภาพไหนเป็นภาพพระศพและภาพไหนเป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิธาตุในตอนต่อมา.
การที่ถือว่า พระสถูปแบบนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระศพนั้น
มีเหตุผลง่าย ๆ ตรงที่ว่า ไม่มีภาพอื่นใดที่แสดงถึงฉากตอนปรินิพพานเลย
นอกจากภาพสถูปเช่นในภาพที่ ๔๗ นี้เป็นต้น. สมัยปัจจุบันนี้ เราเขียนภาพพระพุทธองค์ประทับนอนอยู่บนแท่นระหว่างต้นไม้สองต้น;
แต่ในสมัยที่ยังไม่ยอมทำรูปพระพุทธองค์นั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่ทำรูปคน,
และแม้ที่จะทำเป็นแท่นว่างยาวระหว่างต้นไม้สองต้น ก็ไม่ปรากฏเลย, เมื่อภาพตอนอื่นเสร็จไปแล้วมาถึงตอนนิพพานก็ทำภาพพระสถูปชนิดนี้เลยทีเดียว,
ดังนั้นจึงถือว่า พระสถูปรูปร่างเช่นนี้เอง คือสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ปางปรินิพพาน
หรือกล่าวโดยเจาะจง ก็คือพระศพในวันที่เสด็จปรินิพพานนั้นเอง.
อีกอย่างหนึ่ง ที่จะสังเกตได้ง่าย
ๆ เหมือนกัน คือเมื่อฉากสำคัญทั้ง ๔ ฉาก (คือฉากประสูติ-ตรัสรู้-แสดงธรรมจักร-นิพพาน)
จะต้องนำมาสลักไว้ในหินแท่งเดียวกัน ในลักษณะที่เรียกว่า epitome แล้วเราจะพบได้ทั่ว
ๆ ไปว่า ฉากที่สี่คือปรินิพพานนั้นจะถูกแสดงไว้ด้วยรูปสถูปเช่นนี้เสมอ
เป็นการตายตัว เช่นเดียวกันกับฉากตรัสรู้ที่แสดงด้วยภาพต้นโพธิ์, ฉากแสดงธรรมจักร
แสดงด้วยภาพลูกล้อ, ส่วนฉากประสูตินั้น มีได้มากกว่า ๑ อย่าง เช่น ภาพกอบัวในกระถางแบบมถุรา,
หรือลายขยุกขยิก (ดังในภาพที่
๒๓) เป็นต้น, ซึ่งไม่ค่อยจะตายตัวเหมือนฉาก ๓ ฉากที่เหลือ. ดังนั้นจึงเป็นที่เชื่อถือได้โดยแน่นอนว่า
รูปพระสถูปนั้น ถ้านับเนื่องอยู่ในพระพุทธประวัติแล้ว ย่อมเล็งถึงพระพุทธองค์ในขณะปรินิพพานด้วยเสมอไป,
มิใช่เป็นเพียงรูปสถูปบรรจุพระอัฐิธาตุแห่งเวลาต่อมาแต่ประการใด.
ในภาพที่ ๔๗ นี้ มีสิ่งที่ควรศึกษาคือ
ครึ่งบนเป็นส่วนของสถูปซึ่งเล็งถึงการปรินิพพาน, ครึ่งล่าง คือภาพหมู่คนซ้อนกันสองแถว
เล็งถึงการบังคับและการสมโภชพระศพด้วยดนตรีเป็นต้น, ซึ่งถือกันว่าเป็นการกระทำของมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราอันเป็นเจ้าของประเทศที่นิพพาน
ตลอดเวลาเจ็ดวันดังที่ปรากฏอยู่ในอรรถกถา หรือตำนานชื่ออื่น.
ส่วนที่เกี่ยวกับพระสถูปนี้
มีตัวสถูปรูปบาตรคว่ำ หรือมะนาวตัดครึ่ง, อยู่บนฐานประทักษิณ ๓ ชั้น, ข้างบนยอดมีแท่นสี่เหลี่ยม
มีฉัตรปักอยู่ ๓ คัน, แต่ละคันมีมาลัยแขวน, ห้อยแผ่นผ้าหรือแผ่นธง ๒ ข้าง,
มีเทวดาแบบกินนรขนาบ ๒ ข้าง ข้างละ ๒ ตัว, ซึ่งจะดูให้มีความหมายเป็นประจำอยู่ทั้ง
๔ ทิศก็ได้, ใต้เทวดาลงมา มีคนถือมาลัยบูชาอยู่ข้างละ ๒ คน. สำหรับเทวดานั้น
มีลักษณะอย่างเดียวกันกับที่เคยทำประกอบสองข้างพระแท่นมีต้นโพธิ์ หรือแม้สองข้างวงล้อธรรมจักรดังในภาพที่
๔๒, ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเป็นเทวดาที่ประจำสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ในทุก
ๆ แบบนั่นเอง, นับว่าเป็นแบบฉบับโดยเฉพาะของศิลปกรรมสกุลนี้ ซึ่งควรกำหนดไว้ตลอดไป
จะสะดวกแก่การศึกษาของตนเองอย่างยิ่ง. เทวดาฝรั่งนั้น มีปีกเหมือนกัน แต่ทำเป็นรูปคนตามธรรมดาอย่างเต็มตัวแล้วมีปีกนิดเดียว
ไม่น่าจะพาตัวลอยได้แถมมีมือถืออาวุธและอื่น ๆ รับใช้พระเป็นเจ้าได้ในทุกกรณี,
ส่วนเทวดาแบบนี้ ทำตัวเป็นนก มีปีกหางมากพอที่จะบินไหว, แต่อย่างไรก็ตาม
ปีกหรือหางเป็นต้นนั้น ไม่ควรเข้าใจไปว่าเป็นของจริงตามนั้น ควรถือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการที่สามารถเหาะลอยไปได้เท่านั้นเอง
คือมีฤทธิ์เป็นพิเศษในส่วนนั้น, จะทำตัวเป็นนกหรือทำตัวเป็นคน ย่อมแล้วแต่ศิลปะแห่งยุคนั้นหรือถิ่นนั้น.
ส่วนล่างที่เกี่ยวกับหมู่คนนั้น
จะเห็นได้ว่าที่ตรงกึ่งกลางของคนแถวบน มีคนอยู่คนหนึ่งกำลังไหว้อยู่อย่างแหงนหน้า
คงจะเป็นตัวประธานหรือตัวเจ้าภาพเอง นอกนั้นเป็นญาติหรือบริวาร, ถือเครื่องสักการะบ้าง,
พนมมือบ้าง, ส่วนคนริมขวาสุดนั้นถือธงแผ่นผ้าผืนยาว ซึ่งจัดเป็นเครื่องสักการะด้วยเหมือนกัน.
ส่วนแถวล่างนั้นเป็นชาวประโคมล้วน มีเครื่องดนตรีต่าง ๆ กัน, สองคนริมซ้ายสุด
เป่าปี่หรือแตรซึ่งทางปากเป็นรูปงู. คนที่สามเป่าเครื่องเป่าชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเลาสองเลา
ซึ่งคงจะเป็นภาพนี้เอง ที่เจ้าหน้าที่ทางอินเดียแนะให้สังเกตว่า มีเครื่องดนตรีบางชนิดที่บัดนี้ในอินเดียเองก็ไม่มีแล้ว
และไม่ทราบว่าเป็นอะไร, คนที่สี่และที่ห้า ตีเครื่องตีประเภทกลอง, ส่วนคนที่หกและที่เจ็ดตีเครื่องตีรูปร่างแบน
ๆ. ทั้งหมดนี้ควรจะเป็นที่สนใจอย่างยิ่ง สำหรับครูบาอาจารย์ทางวิชาดนตรี
ว่าทางอินเดียซึ่งเป็นต้นตอวัฒนธรรมประเภทนี้ แม้แก่ชาวไทยเรานั้น เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว
เขามีเครื่องดนตรีอะไร เป็นชุดอย่างไร ในขนาดที่ใช้ในราชสำนักหรือที่เป็นแบบมาตรฐาน.
และที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือที่เท้าของนักดนตรีเหล่านั้น มีผ้าพันแข้ง
มีเชือกพันทับอย่างหยาบ ๆ ด้วย. ชะรอยจะมีความหมายถึงการแต่งตัวเต็มยศ
หรือสุภาพหรือแสดงความเคารพด้วยนั่นเอง. คนทั้งสองแถวนี้ มีแถวละ ๗ คนเท่ากัน.
ในคนทั้งหมดนี้ไม่มีใครที่แต่งศีรษะอย่างพระราชาเลย, ถ้าการสันนิษฐานว่าคนที่ไหว้อย่างแหงนหน้าในแถวบน
เป็นกษัตริย์ที่เป็นประธาน เป็นการสันนิษฐานที่ถูกต้องแล้ว ก็ต้องสันนิษฐานต่อไปว่า
กษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น ไม่แต่งศีรษะอย่างกษัตริย์ในคราวไว้ทุกข์แก่บุคคลสูงสุดไว้อีกกระมัง,
เพราะว่าในภาพไหน ๆ ก็ตามที่แล้ว ๆ มา กษัตริย์แต่งศีรษะอย่างเห็นได้ว่าเป็นกษัตริย์เสมอ,
ทั้งแบบสาญจี และแบบภารหุต, และเป็นอย่างเดียวกับศีรษะเทวดา, ส่วนในภาพนี้มีศีรษะลุ่น
ๆ เกลี้ยง ๆ เหมือนชาวบ้านทั่วไป.
ในแง่ของศิลปะและโบราณคดีโดยตรงนั้น
มีแง่ที่ควรศึกษาอย่างยิ่งก็คือแบบของพระสถูปนั่นเอง สำหรับผู้สนใจทางแบบแผนหรือแม้แต่คติที่ถือกันในทางศาสนา,
เท่าที่ควรทราบกันไว้บ้างนั้นมีดังนี้ : -
ภายในตัวสถูปแท้ ๆ นั้น
เต็มไปด้วยดินปนกรวดหรือหินตามธรรมชาติ, มีโพรงเล็ก ๆ ประกอบกันขึ้นด้วยแผ่นหิน
ในลักษณะหีบสี่เหลี่ยม ในโพรงนั้น บรรจุหีบศิลาที่เล็กเข้ามา แต่สวยงามหรือประณีตยิ่งขึ้น,
ในหีบนั้นซึ่งบางรายอาจจะมีซ้อนกันมากกว่า ๑ ใบ, บรรจุของมีค่าไว้ตามสมควร
เช่นเศษทองเงินแกะหรืออัดเป็นภาพเล็ก ๆ เป็นเครื่องบูชาพระอัฐิ ซึ่งอยู่ในผอบหินที่ดีที่สุด
กลึงหรือแกะสลักให้สวยที่สุดเท่าที่จะทำได้. จากโพรงศิลานี้ มีท่อเล็ก
ๆ ประกอบขึ้นด้วยอิฐ ทำนองท่อระเหยอากาศ ตรงขึ้นไปทางเบื้องบนจะถึงยอดสุด
เพื่อให้โพรงศิลาข้างใต้นั้นระบายอากาศได้นั่นเอง, และน้ำฝนส่วนน้อย อาจซึมลงไปถึงส่วนล่างได้ด้วยก็ได้.
ดินซึ่งเป็นองค์สถูปทั้งหมดนั้น ก่ออิฐด้วยปูนยึดไว้ไม่ให้พัง แล้วใช้แผ่นหินสวย
ๆ มีลวดลายหรือไม่มีแล้วแต่กรณี, บุหน้าอิฐทั้งหมดนั้นอีกต่อหนึ่ง จนดูเป็นหินไปทั้งองค์,
ตรงที่จรดกับพื้นดินโดยรอบ เรียกว่า เมธิ หมายถึงฐาน, จากฐานออกมาโดยรอบ
ทิ้งว่างไว้พอประมาณสำหรับเดินได้รอบ เรียกว่า ปทกษิณ. รองวงประทักษิณนี้
ยกรั้วขึ้นโดยรอบ เรียกรั้วนี้ว่า เวทิกา. (ดังที่เห็นได้ในภาพสถูปภายนี้);
ดูในภาพแล้ว จะเห็นว่ารั้วนี้ มีกรอบอันล่างติดกับพื้น และเรียกหินชิ้นนี้ว่า
อาลมพน, และมีชิ้นที่ยืนเป็นอันยืนเป็นระยะ ๆ ไป เรียกว่า สตมภ
หรือสดมภ์ในภาษาไทย. ซึ่งแปลว่า เสา, ชิ้นที่เรียก สตัมภะ นี้ มีรูให้ชิ้นที่จะเสียบขวางเข้าไปอีก,
สองหรือสามชิ้น แล้วแต่กรณี, อันที่จะเสียบร้อยสตัมภะทั้งหมดให้เนื่องกันนี้
แต่ละอัน ๆ เรียกว่า สูจิ. แปลว่า เข็ม เช่นเข็มเย็บผ้า, ยังมีชิ้นขนาดใหญ่เท่าชิ้นล่าง
ครอบข้างบน
หัวสตัมภะอีกทีหนึ่ง ให้แน่นหนาเนื่องกันหมด,
เหมือนอันที่เรียกอาลัมพนข้างล่าง แต่ไม่เรียกว่า อาลัมพน, ไปเรียกเสียว่า
อุษณีษ์ ซึ่งแปลว่า ครอบหน้าหรือกรอบหน้า. ถ้าฐานประทักษิณมีหลายชั้น
เช่นมี ๓ ชั้นดังในภาพนี้ ก็ต้องมีบันไดขึ้นไปจากชั้นล่าง เรียกบันไดนี้ว่า
โสปาน, จากประทักษิณขั้นบนสุดขึ้นไปถึงตัวสถูปโดยตรง ซึ่งมีลักษณะเหมือนบาตรคว่ำดังเช่นในภาพนี้.
เรียกส่วนที่เหมือนบาตรคว่ำนี้ว่า อณฑ แปลว่าฟองไข่, หรือบางทีก็เรียกว่า
ครภ (ตรงกับภาษาไทยวา ครรภ์) แปลว่า ห้อง หรือ มดลูก, และเรียกพระอัฐิที่บรรจุไว้ในนั้นว่า
พีช แปลว่า พืช, เหนืออัณฑะขึ้นไปถึงรั้วสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายแท่นสี่เหลี่ยม
ส่วนนี้เรียกว่า หรมิกา หรือ หรรมิกา ในสำเนียงไทยเรา, บนหรรมิกานี้
ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับว่า มีพระพุทธองค์ประทับอยู่ ปักฉัตรไว้คันหนึ่งหรือหลายคันแล้วแต่กรณี
ดังในภาพนี้มีปักไว้ ๓ คัน, และเรียกว่า ฉตร ซึ่งได้กลายมาเป็นภาษาไทยเราว่าฉัตร
ตรงกันตามสำเนียงเดิม. ที่รั้วชั้นนอกสุด มีซุ้มประตูเข้าออกเรียกว่า โทรณ
ดังที่เห็นอยู่ในภาพที่ ๔๗ นี้ ๑ ประตู. ที่เสาประตู มีคานขวางเหนือประตู
ที่เสารั้ว ที่ขอบรั้วอันบนมีการสลักภาพตามความประสงค์. แม้ภาพที่นำมาแสดงในหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด
ก็อยู่ตามที่เหล่านี้เอง. ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของสิ่งที่เรียกว่าสถูป
ตามแบบมาตรฐานทั่วไป ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ตายตัว, ส่วนลวดลาย หรือเครื่องประดับเบ็ดเตล็ดนั้น
อาจจะทำได้ตามใจชอบ. พระสถูปแบบนี้เองที่ค่อยวัฒนาการมาเป็นสถูปแบบลังกา
กระทั่งมาสู่ประเทศไทยกลายเป็นสถูปเช่นที่นครปฐม และนครศรีธรรมราช เป็นต้น.
อะไรได้เพิ่มเข้ามาหรือหายไปอย่างไร ขอให้พิจารณาดูเอาเอง และเราควรจะคิดนึกปรับปรุงของเรากันใหม่อย่างไรต่อไปอีกบ้าง
ก็น่าจะลองนึกกันดู เพื่อผลอันดีทางจิตใจยิ่งขึ้น ดีกว่าที่จะถือทิฏฐิมานะไปตะพึดแล้วเดินไกลออกไปทุกที
จากสิ่งที่เคยเป็นแบบฉบับและมีค่าทางจิตใจอย่างสูงมาแล้วแต่กาลก่อน.
ดูภาพที่ ๔๗ นี้ สำหรับเปรียบเทียบกับภาพที่
๔๘-๔๙
ถัดไปอีกครั้งหนึ่ง.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๗ ภาพปางปรินิพพาน
|