ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๖
ภาพพระราชาองค์หนึ่ง (พระเจ้าพิมพิสาร) เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ (ซึ่งในที่นี้คือบัลลังก์ว่าง สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ริมบนสุดด้านซ้ายมือของผู้ดู) ซึ่งประทับอยู่ ณ ยอดเขาคิชฌกูฏด้วยขบวนใหญ่. ภาพพระราชาองค์เดียวกันนั้นถูกแสดงหลายหน คือ เมื่ออยู่บนหลังช้างตอนที่เสด็จด้วยช้าง, ตอนที่อยู่บนรถเมื่อเป็นระยะที่เสด็จด้วยรถ, ออกจากวังและจากประตูเมืองเป็นระยะ ๆ ไป กระทั่งถึงพระองค์แล้ว ยังแสดงด้วยท่าทางอีก ๒ ท่า คือถวายบังคมด้านตรง และด้านข้าง
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๖
ภาพนี้เป็นภาพตัวอย่างที่น่าศึกษาอีกภาพหนึ่งของศิลปกรรมแบบที่สาญจี,
เป็นภาพพระราชาองค์หนึ่งเสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ ณ พระคันธกุฎิที่ยอดภูเขาแห่งหนึ่ง.
ภาพตั้งต้นจากมุมบนขวา คือชาวบ้านกำลังดูขบวนเสด็จของพระราชาอยู่บนเฉลียงเรือนของตน
ๆ, พระราชาเสด็จด้วยช้างในที่ควรเสด็จด้วยช้าง, เสด็จด้วยม้าในที่ควรเสด็จด้วยม้า,
และเสด็จด้วยรถในที่ควรเสด็จด้วยรถ, เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเมื่อถึงเขตที่ควรเสด็จดำเนินด้วยพระบาท
สมตามคำที่มีกล่าวไว้ในบาลีต่าง ๆ กระทั่งถึงอรรถกถาจนถือเป็นแบบฉบับตายตัวอย่างหนึ่งทีเดียว.
มีราชบริพารตามเสด็จ ถือเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามธรรมเนียม และมีหม้อน้ำมีพวยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการให้ทานอย่างที่จะขาดเสียมิได้
เพราะพระราชาอาจจะเรียกหาทันทีที่ต้องการให้ทาน, โปรยทาน, หรือถวายทานก็ตาม,
เพื่อหลั่งน้ำจากพวยกานั้นในขณะที่บริจาคทาน. ตอนในเมือง เสด็จด้วยช้าง
ด้วยม้า, พอออกจากประตูเมืองเสด็จด้วยรถเทียมม้า, และเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเมื่อถึงเขตอุปจารแห่งพระวิหาร,
แล้วเข้าเฝ้าถวายบังคมพระพุทธองค์ ซึ่งในที่นี้แสดงด้วยภาพพระแท่นว่าง
สี่เหลี่ยม ตามแบบของสมัยสุงคะตามเคย หากแต่ไม่มีต้นโพธิ์ประกอบอยู่ข้างบน
ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด, อยู่ทางริมซ้ายบนสุด, ใต้พระแท่นมีลายขยุกขยิกซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับภูเขา
และเป็นยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของพระคันธกุฎี ซึ่งต้องเล็งถึงเขาคิชฌกูฏโดยไม่ต้องสงสัย,
ดังนั้น พระราชาองค์นั้น ก็ต้องเป็นพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธอันมีนครหลวงชื่อกรุงราชคฤห์นั่นเอง,
หรือนครคิริพชก็เรียก.
พระราชาองค์เดียวกันในภาพนี้
ถูกแสดงด้วยภาพ ๒ ภาพ (ทำนองเดียวกับภาพลิงสองตัวในภาพที่
๔๕) เพื่อให้เห็นท่านนมัสการทั้งสองท่า คือทั้งในขณะเฝ้า และขณะเวียนประทักษิณเดินออก.
มีข้อความกล่าวไว้ชัดในบาลีและอรรถกถาว่า การเฝ้าพระพุทธองค์นั้น ไม่เฝ้าตรงพระพักตร
แต่จะเฉียงไปข้างใดข้างหนึ่งพอสมควรคือไม่ข้างจนพระองค์ต้องเอี้ยวพระพักตรไปหา
ไม่ใกล้หรือไกลเกินไป กระทั่งไม่เหนือลมเป็นต้น เรียกว่าเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
(เอกมนต อฏฐาสิ), ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะยืนเฝ้าตอนแรกเข้าไป แล้วจะนั่งลง,
ถ้าเป็นเทวดาจะยืนเฝ้าอยู่จนกระทั่งกลับ. เมื่อกลับออกจะเวียนประทักษิณ
คือเดินอ้อมเป็นวง โดยมีสีข้างข้างขวาของตนอยู่ทางพระพุทธองค์เสมอไป, ไม่มีการหันหลังให้พระพุทธองค์เลย
จนกว่าจะลับสายพระเนตรแล้ว. ดังนั้นจึงเข้าใจว่าในภาพภาพนี้ ศิลปินได้กระทำอย่างถูกต้องแล้วตามระเบียบหรือวัฒนธรรมนั้น
คือ ภาพหนึ่งกำลังเฝ้าอยู่ ภาพหนึ่งเดินประทักษิณเมื่อกลับ, ซึ่งประณมมืออยู่ตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน,
มีหน้าตาอิ่มเอิบอย่างยิ่ง.
มีเสาประตูเมือง มีช่อง
ๆ ซึ่งแสดงว่าในเสานั้นกลวงดังที่วิจารณ์กันแล้วในภาพที่
๓๐ อีกตามเคย. บ้านเรือนและจั่วหลังคาก็แบบเดียวกันหมด ในบรรดาภาพสลักที่สาญจี.
น่าชมความคิดที่จัดภาพบรรจุลงไปในพื้นที่น้อยนิดและจำกัดได้อย่างเหมาะสม
คือตั้งต้นที่ริมขวาบนสุด แล้วจบเรื่องริมซ้ายบนสุดเหมาะสมกันที่ภาพบุคคลศักดิ์สิทธิ์จะอยู่ในที่เช่นนั้น.
เพราะเนื้อที่น้อยไป จึงไม่อาจบรรจุภาพต้นโพธิ์และภาพเทวดาประจำต้นโพธิ์ลงในภาพนี้ได้,
ทำให้เห็นว่า เมื่อจำเป็นเข้า จริง ๆ ศิลปินก็จะต้องทิ้งระเบียบบ้างเหมือนกัน.
การที่จะตั้งข้อสงสัยว่า ชะรอยภาพนี้อาจจะเล็งพระพุทธองค์เมื่อก่อนตรัสรู้
เพราะมีเรื่องกล่าวว่าพระเจ้าพิมพิสารได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ในขณะที่แรกผนวชใหม่
ยังไม่ทันตรัสรู้ ณ ที่ภูเขาแห่งหนึ่งด้วยเหมือนกัน, นั้นก็ยังไม่มีเหตุผลพอ
เพราะว่าในภาพที่
๒๗ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภาพต้นโพธิ์นั้นได้ใส่ให้กับแท่นว่างมาแล้ว
ตั้งแต่ก่อนเสด็จมาอุบัติในมนุษยโลกนี้ด้วยซ้ำไป, ดังนั้นจึงถือว่า ศิลปินอาจจะเว้นต้นโพธิ์หรืออะไรบางอย่างเสียบ้างก็ได้
ในเมื่อเกิดความจำเป็นดังที่กล่าวแล้ว, ทั้งที่โดยทั่ว ๆ ไปแล้วเราจะเห็นได้ว่า
ศิลปินที่สลักภาพสาญจีนี้ เป็นศิลปินที่ถึงขนาดและทำตามความประสงค์ของพระราชาที่ทรงเคร่งครัดที่สุดด้วย.
รายละเอียดเกี่ยวกับข้าราชบริพาร
๑๑ คนที่มุมริมซ้ายล่างนั้นไม่สามารถที่จะบรรยายได้ในที่นี้ แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งต้องทิ้งไว้สำหรับการศึกษาต่อไป,
ท่านผู้ใดทราบขอได้ช่วยอธิบายด้วย.
ในแง่ของโบราณคดี ควรจะสังเกตว่าในภาพนี้ก็ดี
ภาพอื่น ๆ ก็ดี รูปร่างของแผ่นธง เป็นธงแผ่นผ้า หรือธงประฏากทั้งนั้น ไม่ได้เห็นธงสามเหลี่ยมเรียวยาวเลย.
เข้าใจว่า สำหรับอินเดียนั้น ธงสามเหลี่ยมเรียวยาวนั้นจะไม่เป็นอะไรมากไปกว่าเศษผ้าสำหรับประดับประดาเท่านั้นเอง,
ในเมืองไทยเรายังจะมีเกียรติกว่าเสียอีก. สำหรับขอช้างนั้นช่างมีอายุยืนเสียจริง
ๆ สองพันกว่าปีแล้ว ช่างไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงรูปร่างเสียเลย, นี่เป็นเครื่องแสดงว่าอะไรก็ตาม
ถ้ามันถูกเทคนิคหรือดีจริง ๆ แล้ว ก็เป็นการยากที่ใครจะไปแตะต้องมันได้.
สำหรับบ้านเรือนนั้น มันคงจะต้องเปลี่ยนแปลงรูปร่างทุก ๆ ร้อยปี, ห้าสิบปี,
กระทั่งทุก ๆ สิบปี ก็เปลี่ยนแบบกันเสียทีหนึ่ง. นี่แหละความไม่มีร่องรอยของมนุษย์ถ้าไม่มีอะไรบังคับ.

ภาพกษัตริย์มาเฝ้า แบบภารหุต

ภาพกษัตริย์มาเฝ้า แบบภารหุต อีกภาพหนึ่ง

ภาพกษัตริย์มาเฝ้า แบบภารหุต อีกภาพหนึ่ง

ภาพกษัตริย์มาเฝ้า แบบภารหุต อีกภาพหนึ่ง

ภาพพระราชามาเฝ้า (ส่วนหนึ่ง) แบบอมราวดี

ภาพพญานาคมาเฝ้า แบบภารหุต

ภาพโปรดพระญาติ (?) แบบภารหุต

ภาพเสด็จลงจากเทวโลก แบบภารหุต

ภาพเสด็จลงจากดาวดึงส์ แบบสาญจี

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๖
|