ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๒
ภาพการประกาศธรรมจักร หรือธัมมจักกัปปวัตตนะ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเต็มไปด้วยเทวดาและกวาง บัลลังก์ที่ว่างนั้น หมายความว่าพระองค์ประทับบนนั้น ธรรมจักรคือสัญลักษณ์ของพระองค์ในที่นี้.
(จากหินสลักแบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๔๒
ภาพนี้เป็นภาพการทรงประกาศธรรมในลักษณะพิเศษ
คือ เหมือนหนึ่งการประกาศอำนาจของพระจักรพรรดิ จึงได้เรียกกันว่าการประกาศธรรมจักร.
เมื่อพระจักรพรรดิประกาศพระราชอำนาจโดยการปล่อยม้าเพื่อพิธีอัศวเมธออกไป
ไม่มีใครกล้าต่อต้านในทิศทั้งสี่ นี้ฉันใด การประกาศธรรมจักรคืออริยสัจ
๔ ประการของพระองค์ ก็เป็นสัจจะที่ไม่มีใครในมนุษยโลกหรือเทวโลกคัดค้านได้
ก็ฉันนั้น.
หินสลักภาพประกาศธรรมจักรที่สาญจี
มีแต่การประกาศแก่เทวดาดังในภาพนี้ ยังไม่เคยเห็นที่ทำเป็นภาพการประกาศแก่ภิกษุ
๕ รูปที่เรารู้จักกันดีว่าปัญจวัคคีย์, ถึงแม้ที่ภารหุตก็เหมือนกัน. ข้อนี้แปลว่า
ในสมัย พ.ศ. ๓๐๐-๔๐๐ นั้น ยังไม่ถือว่าการประกาศธรรมจักรนั้นประกาศแก่ภิกษุห้ารูปนั้นโดยตรงกระมัง.
แม้ในยุคหลังมาอีกมาก คือยุคพระพุทธรูปปางธรรมจักรที่งามที่สุด ที่ค้นพบที่สารนารถ
ที่รู้จักกันยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์ใด และเป็นแบบสมัยคุปตะนั้น ก็มิได้แสดงว่าเป็นการประกาศแก่ภิกษุห้ารูปนั้นอีกเหมือนกัน
กล่าวคือแทนที่จะทำรูปภิกษุห้ารูปนั้นไว้ที่ใต้ฐานกลับไปทำเป็นภาพคน ๗
คน มีเด็กและผู้หญิงด้วย. ในหินสลักชั้นหลัง และที่ไม่มีความสำคัญเท่านั้น
ที่มีการทำภาพภิกษุห้ารูปนั้นบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน ไม่เหมือนสมัยปัจจุบันนี้
พอมีการแสดงภาพธรรมจักรที่ไหน ก็มีภิกษุห้ารูปโดยที่จะขาดเสียมิได้. สรุปความว่า
ภาพการประกาศธรรมจักรที่สวนอิสิปตนมฤคทายวันยุคแรก ๆ นั้น มีแต่ภาพที่แสดงว่าทรงประกาศแก่เทวดามากมาย
ไม่มีภาพปัญจวัคคีย์ ซึ่งไม่มีความสำคัญอะไร สู้กวางก็ไม่ได้ เพราะทำภาพกวางไว้เสมอ,
การที่ทำเช่นนี้ เข้าใจว่าคงจะเป็นเพราะถือว่า การประกาศธรรมจักรนั้น เป็นการประกาศแก่โลก
หรือแก่สากลจักรวาลและสูงสุดอยู่ที่พวกเทวดา, ถ้าเทวดาพวกเดียวยอมแพ้แล้วเป็นหมดปัญหา.
ในพุทธประวัติอย่างมหายานนั้นมีกล่าวไว้ชัดเจนว่า พอตรัสรู้แล้ว ก็ประกาศธรรมจักรไปทั่วทุกโลกธาตุ
ซึ่งแสดงด้วยเทวดาเป็นส่วนใหญ่ แล้วค่อยไปแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ในภายหลัง,
ซึ่งในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทมีกล่าวถึงแต่เพียงว่า ในการประกาศแก่ภิกษุห้ารูปนี้
มีเทวดาจำนวนนับไม่ถ้วนร่วมรับด้วย และบรรลุมรรคผลมากมาย, อย่างไรก็ตาม
เป็นอันกล่าวได้โดยแน่นอนว่า หินสลักยุคแรก ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้นเลย
ดังนั้นจึงปรากฏภาพการประกาศธรรมจักรดังเช่นที่เห็นอยู่ในภาพนี้.
ภาพที่พิมพ์ไว้ในที่นี้
ตัดรอนให้ได้ส่วนกลางซึ่งเป็นส่วนสำคัญเอามา เพื่อจะได้ขยายส่วนให้ใหญ่สักหน่อย,
ถ้าเอาทั้งหมดก็เป็นภาพยาว ซึ่งทำให้ตัวภาพเล็กลงมาก ลำบากแก่การดู, แต่อย่างไรก็ตาม
จะได้ระบุสิ่งต่าง ๆ ให้ครบถ้วนดังที่ปรากฏอยู่ในภาพที่สมบูรณ์ (ซึ่งผู้ที่สนใจจะไปดูได้ที่ภาพจริง),
คือ ที่ศูนย์กลางมีภาพแท่นว่าง, เหนือแท่นมีวงธรรมจักร ๓๒ ซี่, เหนือธรรมจักรมีฉัตร
๓ คัน และเทวดาแบบกินนรขนาบสองข้าง ตามแบบฉบับของสาญจีทั่วไป, ทั้งสองข้างซ้ายขวามีพุ่มไม้ข้างละ
๔ พุ่ม รวม ๘ พุ่ม, ต่ำลงมามีเทวดาข้างละ ๘ ตน รวม ๑๖ ตน, ต่ำลงมามีกวางข้างละ
๗ ตัว (รวมทั้งตัวเล็ก ๆ ข้างแท่น ข้างละตัวด้วย) รวม ๑๔ ตัว, ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรศึกษากันโดยรายละเอียดต่อไป.
ฉัตรนั้นโดยทั่วไปมีเพียง
๑ คัน, ในฉากที่สำคัญจึงจะมีถึงสามดังเช่นในภาพนี้ และภาพปรินิพพาน (ดูภาพที่
๔๗) เป็นต้น. กินนรก็เป็นแบบตายตัว จนถึงกับอาจถือเป็นหลักได้ว่า แม้ในบางภาพหินสลักส่วนนั้นหักหายไป
ก็เติมเอาได้โดยไม่กลัวผิด เพราะมีภาพอื่นที่ยังดีอยู่ เหมือนกันทุกประการ,
จึงเรียกเสียว่า "ตามแบบของสาญจี" ซึ่งในภาพที่ ๔๒ นี้ก็ต้องอาศัยหลักเกณฑ์อันนี้อยู่เหมือนกัน.
ธรรมจักรในภาพนี้ มีซี่
๓๒ ซี่, มีจุดที่ดุม ๘ จุด, เกลี้ยงไม่มีลวดลายอะไรเลยตามแบบของยุคอโศกและสุงคะ;
ผิดกับธรรมจักรแบบของยุคคุปตะ ที่ประกอบด้วยลวดลายงดงามมากมาย ดังที่จะเห็นได้แม้จากที่นครปฐมในเมืองเราเป็นต้น.
สำหรับจำนวนซี่นั้น เป็นปัญหาที่ข้องใจกันมาก ว่าควรจะมีกี่ซี่กันแน่ ดังนั้นขอให้สังเกตดูเอาเองจากธรรมจักรที่ทำไว้ในอินเดียแดงเอง
ตั้งแต่ พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐ หรือสองพันสองร้อยปีมาแล้ว. ยิ่งธรรมจักรในยุคแรกคือยุคอโศก
พ.ศ.๒๐๐ เศษด้วยแล้ว จะมีซี่กว่า ๓๒ ก็มี ไม่เป็นที่ตายตัวทีเดียว, แต่ที่มี
๓๒ ซี่นี้ มีมากกว่าอย่างอื่น, และทำมีลักษณะเหมือนล้อเกวียนธรรมดา ๆ ไม่มีลวดลายเลย.
ในยุคหลังต่อมาคงจะเนื่องจากอยากให้มีลวดลายสวยงามนั่นเอง จึงต้องลดจำนวนซี่ลงบ้าง
เพื่อมีเนื้อที่ทำลวดลาย จึงเหลือ ๑๖ , ๑๒ ตามลำดับ กระทั่งในเมืองไทยเรา
เอาแต่ ๘ ซี่ ตามสะดวกในเมื่อจะเขียนภาพธรรมจักรเล็ก ๆ เป็นต้น.
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เท่าที่ได้สอบสวนดูมาเรื่อย
ๆ ทำให้เกิดความแน่ใจว่า ธรรมจักรที่แท้จริง จะต้องเล็งถึงว่า ธรรมจักรในพุทธศาสนานั้นอย่างหนึ่ง,
ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นอย่างหนึ่ง แม้กระนั้นแล้วยังต้องแบ่งออกไปอีกว่า
เป็นธรรมจักรที่กำลังหมุน, หรือว่ากำลังหยุดนิ่ง ๆ คือธรรมจักรเฉย ๆ ไม่เกี่ยวกับการหมุน.
ถ้าเป็นธรรมจักรหยุดนิ่ง ควรจะมีเพียง ๔ ซี่ ดังที่ปรากฏอยู่ที่ลวดลายในฝ่าพระบาทแบบอมราวดียุคแรก
ๆ ที่พวกเราในสมัยนี้พากันเรียกว่าสวัสติกะไปเสีย, สิ่งที่เรียกว่าสวัสติกะนั้น
ในทางพุทธศาสนาหรือของพุทธบริษัทบางนิกาย หมายถึง อริยสัจสี่ทำเป็นสี่แฉกรูปกากบาท
ที่ปลายแฉกเติมเส้นให้เลี้ยวไปนิดหนึ่งในทางเดียวกัน จึงดูเป็นมีความเคลื่อนคือหมุน
ครั้นต่อมาพวกอื่นนิยมทำเป็นรูปลูกล้อเสียเลย ๘ ซี่บ้าง ๑๖ ซี่บ้าง, มันเลยดูหยุดนิ่ง
ไม่หมุน, เพื่อจะให้ดูหมุน จึงได้เติมซี่เข้าให้มากจนถี่ยิบ กลายเป็น ๓๒
ซี่ หรือ ๖๔ ซี่, (อย่างที่ปรากฏในล้อแบบอโศก) และทำซี่เล็กพอลางเลือน
ก็ดูหมุนไปได้เหมือนกัน, ดังเช่นในแบบอมราวดี ซึ่งทำสักว่าพอเป็นขีด ๆ
เท่านั้น, แต่ให้มีจำนวนมากที่สุดที่จะมากได้. ในประเทศเราสมัยนี้ มักทำเอาง่าย
ๆ เป็น ๘ ซี่ เท่าจำนวนมรรคมีองค์แปด, หรือบางคนชอบทำ ๑๒ ซี่ เท่ากับอาการ
๑๒ ของอริยสัจ ก็ยังดูไม่หมุนอยู่นั่นเอง. ดังนั้นเราจึงต้องแบ่งรูปล้อธรรมจักรออกเป็น
๒ ประเภท คือประเภทที่กำลังหมุน และที่กำลังหยุดเฉย ๆ; ส่วนที่กำลังหมุน
ต้องไม่มีลวดลาย เพราะของหมุนจะเห็นลวดลายไม่ได้, จึงต้องทำให้เกลี้ยง
และมีซี่มากจนลายตาทีเดียว ดังเช่นในภาพที่ ๔๒ นี้ เป็นต้น ซึ่งแทนพระธรรมไม่ใช่แทนพระพุทธเจ้า,
ต่อเมื่อประสงค์จะให้แทนพระพุทธองค์โดยตรง ดังภาพหินสลักแบบภารหุต บางภาพจึงควรทำน้อยซี่และมีลวดลายที่กง
และที่ซี่ และแม้แต่ที่ดุมธรรมจักรแบบคุปตะที่นครปฐมมีลวดลายมาก ทั้งไม่มีแท่นว่างประกอบ
ควรถือว่าวงธรรมจักรนั้นแทนองค์พระพุทธเจ้าโดยตรง, และเป็นธรรมจักรหยุด
แม้จะมีซี่มาก.
สำหรับธรรมจักรสมัยอโศก
หรือที่เรียกว่า สมัยเมารยันโดยตรง ในสมัย พ.ศ. ๒๐๐ เศษนั้น เราไม่แน่ใจว่าเล็งถึงธรรมจักรในพระพุทธศาสนา
เพราะยังไม่แน่ใจว่าในตอนนั้นพระเจ้าอโศกนับถือพุทธศาสนาแล้วหรือยัง, กับทั้งมีข้อเท็จจริงอยู่ว่า
วงล้อนั้นมีทำกันอยู่ก่อนพุทธกาล หรือก่อนหน้านั้นก็ได้ และวงล้อนั้นเล็งถึงอำนาจของพระจักรพรรดิเอง
มิได้เล็งถึงธรรมในพุทธศาสนาของพระพุทธองค์, เพิ่งจะรับเอามาใช้ในวงพุทธศาสนาต่อภายหลังเพื่อเปรียบพระพุทธเจ้ากับพระจักรพรรดิในระดับเดียวกัน
หากแต่ฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างโลก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างธรรม เท่านั้น; และคงจะได้ทำให้มีซี่มากนับไม่ถ้วน
ดังเช่นวงล้อสมัยอโศกนั่นเอง. พวกเราสมัยนี้ควรจะรู้จักทำรูปธรรมจักรแบบหมุนจี๋กันเสียบ้าง
เพราะดูมันอืดเต็มที่แล้ว, และถ้าจะทำเป็นธรรมจักรหยุด ก็ควรทำให้มี ๑๒
ซี่ คืออาการสิบสองของอริยสัจ จึงจะมีความหมายดี, เพราะเล็งถึงสัจจญาณ,
กิจญาณ, และกตญาณ, แห่งอริยสัจทั้งสี่นั้น. ซึ่งมีความหมายเป็นการบรรลุธรรมตามลำดับ
มิได้หยุดนิ่งเสียทีเดียว.
สำหรับแท่นว่างข้างล่างนั้น
เมื่อวงล้อหมายถึงพระธรรมไปแล้ว แท่นนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์เองตามเคย
ดังในภาพอื่น ๆ, ไม่มีอะไรที่จะต้องวินิจฉัยมากไปกว่านี้.
สองข้างพระแท่น มีกวางขนาดเล็กอยู่ข้างละตัว
(แยกออกจากกวางตัวใหญ่ ๆ อีกข้างละ ๖ ตัว) นี้เป็นพวกสัญลักษณ์ประจำพระแท่น
เช่นเดียวกับกินนรข้างบน ในเมื่อต้องการแสดงภาพตอนทรงแสดงธรรมจักร, ส่วนกวางอีก
๑๒ ตัวนั้นอยู่ในท่าทางต่างกัน เป็นการแสดงภาพของสวนกวางตามธรรมดา. การที่มีกวางข้างละ
๖ (หรือ ๗ ตัว) จะมีความมุ่งหมายในทางธรรมอย่างไรบ้างนั้นก็ควรจะลองนึกดู,
เพราะเผอิญจำนวนเลขเจ็ดนั้น ไปตรงกับหมวดธรรมสำคัญเช่นโพชฌงค์เจ็ดประการเข้า,
ถึงแม้จำนวนคนข้างละ ๘ คนนั้น ก็ดูคล้ายกับมีเจตนาตั้งใจทำ มิใช่ทำตามสบายไม่มีความมุ่งหมายเลยเป็นแน่.

ภาพประกาศธรรมจักร แบบภารหุต

ภาพประกาศธรรมจักร แบบภารหุต อีกภาพหนึ่ง

ภาพประกาศธรรมจักร แบบภารหุต อีกภาพหนึ่ง

ภาพประกาศธรรมจักร แบบอมราวดี

ภาพประกาศธรรมจักร แบบอมรวดี อีกภาพหนึ่ง

ภาพประกาศธรรมจักร แบบพุทธคยา ซึ่งมีอยู่น้อยมาก

ภาพประกาศธรรมจักร แบบพุทธคยา อีกภาพหนึ่ง

ภาพประกาศธรรมจักร แบบคันธาระ

ภาพประกาศธรรมจักร แบบคันธาระ

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๒
|