ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๔๐ ก.-ข.

ภาพมารวิชัย แบบสาญจี ซึ่งแปลกกว่าแบบอื่น : ทำมารเป็นรูปคนธรรมดาสามัญทั้งพญามารและเสนามาร, บัลลังก์ว่างหน้าต้นโพธิ์คือพระพุทธองค์, คนที่นั่งบัลลังก์ห้อยเท้าข้างหนึ่งคือพญามาร ในท่าผจญ, ที่ยืนชิดต้นโพธิ์พนมมือ คือพญามารในท่าพ่ายแพ้, ที่แสดงท่าคล้ายโบกมือ คือการสั่งให้ลูกน้องแพ้ (?)
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

|
ภาพที่ ๔๐ (ก)
ภาพมารวิชัย ขยายส่วนจากภาพที่ ๔๐ ให้เห็นรายละเอียดชัดขึ้น : แม่นางธรณีพยานอยู่ข้างต้นโพธิ์ ซึ่งมีบัลลังก์ว่าง แทนพระพุทธองค์, คนยืนไหว้คือพญามารยอมแพ้, คนยืนโบกมือคือพญามารสั่งเสนาให้ยอมแพ้, คนนั่งห้อยเท้ามีฉัตรกั้น คือพญามารเมื่ออยู่ในท่าผจญ.
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)
|

|
ภาพที่ ๔๐ (ข)
ภาพมารวิชัย ขยายส่วนจากภาพที่ ๔๐ ให้เห็นรายละเอียดชัดขึ้น : ภาพคนในลักษณะต่าง ๆ กันเหล่านี้ คือเสนามาร ซึ่งเล็งถึงกิเลสนานาชนิดที่มาผจญพระพุทธองค์ร่วมกับพญามาร ชื่อปรนิมมิตวสวัตดีมาร.
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)
|
คำอธิบายภาพที่ ๔๐ ก.-ข.
ภาพที่ ๔๐ ก. และ ข. นี้ต่อกันในหินแท่งเดียวกัน,
เอาแผ่น ข. ไปต่อแผ่น ก. ทางขวามือ จะเข้ารูปกันพอดี รวมกันแล้วเป็นภาพพญามารทำการผจญพระพุทธองค์ในวันที่จะตรัสรู้
ในท่อน ก. มีภาพพระพุทธองค์ (คือต้นโพธิ์กับบัลลังก์) และภาพพญามารที่อยู่บนบัลลังก์ทางขวามือ
มีฉัตรเล็ก ๆ กั้นอยู่ข้างบน ส่วนทางท่อน ข. นั้นเป็นภาพของเสนามารล้วน.
สิ่งที่ควรสนใจที่สุดก็คือข้อที่ว่า
หินสลักยุคแรกที่สุดแผ่นนี้ทำภาพพญามารเป็นภาพหรือเทวดาเฉย ๆ ไม่มีอาวุธ
ไม่ขี่ช้างดุร้ายเข้ามา หรือมีไพร่พลที่เป็นสัตว์ดุร้าย เหมือนในภาพที่เขียนหรือสลักกันรุ่นหลัง,
พอใคร ๆ มองเข้าก็ต้องคิดทันทีว่า มารนั้นหมายถึงกิเลสที่แนบเนียนสุขุมที่สุดนั่นเอง,
สิ่งที่เรียกว่ามารหรือซาตานก็ตาม ไม่ควรจะถูกเขียนเป็นคนหรือสัตว์ที่ดุร้าย
เพราะจะเป็นเรื่องที่ตื้นอย่างเด็กเล่นไปเสีย, จะต้องเป็นภาพที่แสดงว่าสวยงามน่ารัก
มีแววฉลาดน่าเชื่อถือ น่าเป็นสมัครพรรคพวกด้วย จึงจะถูกต้องตามเรื่องราว
ที่มีหน้าที่ลวงคนให้ลงผิดติดจมอยู่ในกองทุกข์ หินสลักที่สาญจีแผ่นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการให้ความรู้ความเข้าใจในหลายแง่หลายมุม
ในทางที่ควร. หินสลักยุคหลัง ๆ ต่อมา ได้เปลี่ยนทำเป็นภาพยักษ์ดุร้าย มีสัตว์ร้าย
และอาวุธต่างชนิดเข้าประกอบ ในเมืองไทยเราก็ได้รับแบบ ๆ นี้มา จึงได้เขียนฝาผนังโบสถ์กันไปในทำนองนั้น,
ทำให้ผลที่ได้น้อยไปในทางที่จะทำให้คนฉลาด หรือรู้ธรรมในลักษณะที่ถูกต้อง;
ดังนั้นเราควรจะพิจารณากันดู โดยรายละเอียดในหินสลักแผ่นนี้.
จากทางซ้ายมือในท่อน ก.
มีหญิงหิ้วหม้อน้ำมือหนึ่งชูภาชนะอะไรอย่างหนึ่งด้วยมืออีกข้างหนึ่ง ออกจากซุ้มประตูออกมา
เข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายของทานบารมี ที่ทรงอ้างเอาเป็นพยานเพื่อต่อสู้มารว่าบัลลังก์นั้นควรเป็นของพระองค์ผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วเต็มที่,
ซึ่งในประเทศไทยเราเขียนเป็นนางธรณีบีบน้ำจากผมนั่นเอง มีเจ้าหน้าที่ทางอินเดียอธิบายกันว่าเป็นนางสุชาดาที่ถวายข้าวปายาส,
นี้ไม่น่าจะเห็นด้วยเลย. ถัดมาเป็นบัลลังก์ว่าง มีต้นโพธิ์ข้างบนตามแบบสาญจี
คือมีฉัตร และมีเทวดาแบบกินนรขนาบสองข้าง, นี้คือพระพุทธองค์ในขณะที่ผจญมาร,
ถัดมามีผู้ชายพนมมือกับผู้หญิงและเด็กคนหนึ่ง นี้เข้าใจว่าพญามารพร้อมทั้งเสนาคือลูกเมีย
แสดงอาการยอมแพ้, ถัดไปอีกมีผู้ชายยืนชูมือในท่าโบก มีผู้หญิงและเด็กอีกอย่างเดียวกัน,
นี้เข้าใจว่าเป็นการบอกให้เสนาของตนยอมแพ้, ถัดไปอีกมีคนแต่งตัวภูมิฐาน
เป็นแบบเทวดาสูงสุดตามแบบอินเดีย นั่งบนบัลลังก์มีฉัตรกั้นข้างบน นั่นคือตัวพญามารเอง
มีหญิงคนหนึ่งชะโงกเข้ามาทางขวามือของพญามารและเด็กคนหนึ่งอยู่ข้างเข่าขวาของพญามาร
ชุดเดียวกันอีก, นี้คือพญามารในท่าผจญอย่างเต็มที่; โดยปุคคลาธิษฐานก็คือการตอบโต้กันว่าใครควรจะได้บัลลังก์เป็นของตน,
โดยธรรมาธิษฐานก็คือ ความรบกวนของกิเลสประเภทความอาลัยอาวรณ์ในกามสุขหรือบุตรภรรยา,
ทางซ้ายมือของพญามารออกไปจนกระทั่งในภาพท่อน ข. ทั้งหมด คือเสนามารอื่น
ๆ หน้าตาท่าทางต่าง ๆ กันตามความหมายของกิเลสต่างชื่อกัน เช่นกิเลสชื่อ
สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามราคะ, ปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ
ฯลฯ แห่งสัญโญชน์ ๑๐ ประการ เป็นต้น, ซึ่งในหนังสือแต่งใหม่ยุคปัจจุบันเช่นหนังสือ
The Light of Asia ของ Sir Edwins Arnold เป็นต้น พรรณนากิเลสชื่อนั้นมีหน้าตาอย่างนั้น
ๆ อย่างตรงกับข้อแนะในภาพหินสลักนี้โดยหลักใหญ่ทีเดียว.
ควรจะสังเกตกันต่อไปอีกว่า
ศิลปินอินเดียยุคนี้ จะเป็นแบบสาญจีหรือภารหุตก็ตาม ถือว่าไม่จำเป็นที่จะต้องสลักภาพให้เป็นไปตามลำดับของเรื่องหรือเหตุการณ์เสมอไป
เพราะจะทำให้ลำบากและไม่งดงามตามทางของศิลป์, ดังเช่นในภาพนี้ ถ้าเอาบัลลังก์พญามารเข้ามาไว้ติดกับต้นโพธิ์ก็จะขัดตาอย่างยิ่ง,
จึงต้องแยกออกไปในขนาดที่เหมาะสม, ที่ตรงกลางเลยว่างอยู่ จึงเอาฉากอื่นมาบรรจุลง
คือฉากยอมแพ้และสั่งให้ลูกน้องยอมแพ้ ทำให้เกิดการประหยัดเนื้อที่ขึ้นได้มากมาย
คือในภาพแผ่นเดียวแสดงได้หลายฉาก; ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งกว่านี้ในแผ่นที่สลักภาพเวสสันดรที่ซุ้มประตูแห่งเดียวกัน
และภาพอื่น ๆ อีกมากมายหลายแผ่น, ความงามมีเต็มที่, เนื้อเรื่องก็มิได้เสียไป
และฝึกให้ผู้ดูฉลาดยิ่งขึ้นเป็นอันมาก, น่านิยมวิธีการอันนี้ สำหรับภาพศิลป์
โดยเฉพาะในการแกะสลัก เพราะทำยากลำบากต้องหาทางประหยัดอย่างยิ่ง. ฉากไม่สำคัญไม่ต้องทำให้เด่น
แทรกไว้ตรงที่ควร.
ดูเฉพาะในท่อน ข. เห็นว่าจะไม่มีผู้หญิงปนอยู่เลย,
คงจะเป็นเพราะแยกเอาไปไว้ใกล้ชิดกับพญามารเองเสียแล้ว, จึงดูมีแต่ผู้ชายแม้กระทั่งเด็ก,
และมีวัตถุอะไรบางอย่างที่ "มาร" เหล่านั้นถืออยู่ในมือ เข้าใจได้ยากเพราะหินสลักนั้นกร่อนมากจึงรู้ได้เท่าที่ตาเห็น
และมีทางที่จะเข้าใจผิด, จึงต้องกล่าวกันอย่างกว้าง ๆ เสนามารเหล่านั้นตัวใหญ่มากบ้าง
พอประมาณบ้าง เล็กและเล็กที่สุดบ้าง, นี้เป็นเจตนาของศิลปินโดยตรง เพื่อจะแสดงความหมายของกิเลสนั้น
ๆ โดยน้ำหนักและโดยขนาด. การที่ทำให้หน้าตาต่าง ๆ กัน แลบลิ้นก็มี ไม่แลบก็มี
เป็นต้นนี้ ยิ่งแสดงความหมายของกิเลสได้ชัดขึ้น คือมีความหมายในทางหลอกลวงบ้าง
ยั่วยวนบ้าง ล้อเลียนบ้าง, น่าเกรงขามบ้าง, น่ารักน่าเอ็นดูเหมือนเด็ก
ๆ บ้าง ดังนี้เป็นต้น ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งนั้น อย่าได้ไปหลงใหลเข้า.
ผู้ดูทุกคนคิดทายความหมายชั้นปลีกย่อยเอาเองดีกว่า สนุกกว่า เพราะเรื่องทำนองนี้ไม่มีข้อจำกัดรัดกุมอะไรมากมาย,
และมีเค้าเรื่องส่วนใหญ่เป็นหลักนำทางอยู่แล้ว, บางทีจะพบอะไรใหม่ ๆ ดี
ๆ ถูกต้องกว่าที่เคยพบ หรืออธิบายกันไว้ก่อนแล้วก็ได้.
ภาพเด็กตัวเล็กอยู่ใกล้ผู้หญิงในภาพท่อน
ก. นั้น อาจจะมีปัญหาขึ้นว่าจะเป็นลูกพญามารได้หรือ เพราะเรารู้กันอยู่ว่าพญามารนั้นเป็นเทวดาในชั้นปรนิมมิตวสวัตดี,
เทวดานั้นถือกันว่าไม่คลอดบุตรและมีลูกไม่ได้ แต่แล้วก็ขัดกันอยู่ในตัวเองอีกว่าเรายอมรับกันว่าพญามารมีลูกสาวที่ใช้ให้ไปรบกวนพระโพธิสัตว์ที่ใต้ต้นโพธิ์,
ถ้ามีลูกสาวได้ ทำไมจะมีลูกชายไม่ได้. แต่ถ้ากล่าวกันในทางธรรมาธิษฐานแล้ว
ก็กล่าวว่าหมายถึงความรักใคร่อาลัยอาวรณ์ในบุตร ซึ่งเป็นกิเลสที่รบกวนอย่างยิ่ง,
พระสิทธัถตะมีลูกชายคือพระราหุล ไม่มีลูกหญิงเลย, การทำลูกชายไว้ข้างพญามารนั้นนับว่าถูกต้องแล้ว,
และผู้หญิงคนนั้นก็ควรจะเล็งถึงพระชายาเช่นพระนางยโสธราด้วย, ถ้าเป็นไปตามนี้จริงก็นับว่า
ศิลปินแห่งสาญจี ได้ทำสิ่งที่ฉลาดที่สุดแล้วในศิลปะที่เป็นการบันทึกเรื่องราวทางศาสนา.

ภาพมารผจญ แบบอมราวดี
แสดงแตกต่างกันกับแบบสาญจีที่แล้วมา อย่างไม่อาจจะเข้ากันได้, คือแสดงเป็นภาพยักษ์มารที่ดุร้าย และสตรียั่วยวน ตามที่เราเคยเห็นกันทั่วไป. บัลลังก์มีเบาะว่างอยู่ มีต้นโพธิ์อยู่ข้างหลัง นั่นคือสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์, มารบางคนมีหน้าที่ท้อง, ไทยเราได้แบบนี้มาเช่นเดียวกับภาพมหาภิเนษกรมณ์แบบอมราวดียุคกลาง.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๔๐
|