ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๓๗

|
ภาพที่ ๓๗ (ก)
ภาพมหานิเนษกรมณ์ แบบภารหุต ไม่มีเทวดาแบกม้าหรือชูตีนม้า, แต่มีการโรยดอกไม้ที่พื้นแทน เพื่อไม่ให้มีเสียง. แสดงภาพพระสิทธัตถะด้วยดวงไฟสองดวงอยู่บนหลังม้ามีฉัตรกั้น. พระบาทคู่ที่มุมภาพคือจุดหมายปลายทางที่จะเสด็จไป.
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐)
|

|
ภาพที่ ๓๗ (ข)
ภาพมหาภิเนษกรมณ์ แบบภารหุต เช่นเดียวกับภาพ ๓๗ (ก) แต่เป็นภาพอยู่ในศิลาอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงตอนต้นเรื่องกว่าภาพที่ ๓๗ (ก) หน่อยหนึ่ง.
(ภาพหินสลัก แบบภารหุต พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐)
|
คำอธิบายภาพที่ ๓๗
ภาพอภิเนษกรมณ์ภาพนี้เป็นแบบภารหุต
บนหลังม้ามีฉัตรกั้นซึ่งแสดงว่ามีพระสิทธัตถะประทับนั่งที่นั่น ตามที่รู้กันอยู่ทั่วไป,
แล้วยังมีสิ่งที่มีรูปร่างคล้ายดวงประทีป ติดอยู่ด้วย ๒ ดวง, ฉัตรนั้นมีมาลาแขวนตามแบบฉบับ,
มีคน ๔ คนพาม้าออกไป มีลักษณะเป็นเทวดาทั้งสี่คน แม้กระทั่งคนที่จูงม้า
ก็ไม่มีลักษณะที่จะเป็นนายฉันนะได้เลย. ที่พื้นดินโรยดอกไม้ไว้เกลื่อนกลาด,
ที่มุมบนทางขวามือ มีรอยพระบาทสองรอย ซึ่งเป็นการแสดงจุดปลายทางที่เสด็จลงจากม้าเพื่อการผนวช.
ในหนังสือชั้นหลังที่ประพันธ์ขึ้นทางฝ่ายเหนือ
มีการกล่าวถึงการโรยดอกไม้ที่พื้นดิน เพื่อไม่ให้ม้าอภิเนษกรมณ์ทำเสียงดัง
ซึ่งแสดงไปในทางที่ว่า การออกบวชนี้ เป็นการหนีออกไปไม่ให้ใครเห็นหรือได้ยินเสียง,
เข้ารูปกันกับภาพสลักภาพนี้ ซึ่งเป็นภาพแบบภารหุต ซึ่งอยู่ทางเหนือด้วยกัน.
แต่เกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากจะขอสันนิษฐานอย่างจู้จี้พิถีพิถันไว้สักอย่างหนึ่งว่า
หนังสือชั้นหลังเหล่านั้น เขียนตามหินสลักก็มีอยู่ ถ้าเผอิญเป็นไปได้ว่า
ช่างที่สลักภาพนั้น สลักภาพดอกไม้ตามพื้นดินไว้โดยมีความหมายว่า เป็นสิ่งบูชาของเทวดาที่โรยดอกไม้ลงมา
เป็นต้น มิใช่โรยเพื่อป้องกันเสียงกีบม้าแล้ว เรื่องก็จะกลายเป็นของน่าขันไปทันที
ที่ผู้เขียนหรือประพันธ์ชั้นหลังไปเข้าใจเอาเช่นนั้น แล้วจารึกไว้เป็นตุเป็นตะไป.
ที่เกิดตั้งข้อสงสัยขึ้นมาเช่นนี้ ก็เพราะว่า หินสลักที่เก่ามากอีกพวกหนึ่ง
คือหินสลักอมราวดียุคแรก ทำภาพม้าอภิเนษกรมณ์อย่างธรรมดาที่สุด คือไม่มีใครชูตีนม้าหรือแบกม้าหรือโรยดอกไม้ที่พื้น,
ซึ่งเป็นการแสดงว่า มีศิลปินหรืออาจารย์อีกพวกหนึ่งถือว่าม้าอภิเนษกรมณ์นั้น
เป็นม้าที่ออกไปตามธรรมดา ไม่เกี่ยวกับเทวดาชูตีนม้าแต่ประการใดเลยก็มีอยู่เหมือนกัน
และการสลักภาพนั้น ศิลปินมีสิทธิที่จะเติมสิ่งประดับเช่นดอกไม้เข้าในที่ควร
เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์บ้างก็ยังทำได้, ดังนั้นการจะถือเอาว่าดอกไม้นั้นโรยไว้เพื่อกันเสียงกีบม้าโดยตรงนั้น
ไม่มีน้ำหนักโดยสมบูรณ์ จึงขอให้ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ก่อน เพราะอาจจะเป็นเพียงเรื่องธรรมดา
ๆ ไม่มีความหมายพิเศษอะไรเลยก็ได้เหมือนกัน. แต่เนื่องจากวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นบางยุคกล่าวไว้ในทำนองว่าโรยดอกไม้เพื่อกันเสียง
เราก็รับฟังกันในฐานะที่เป็นของแปลกอีกมติหนึ่งเท่านั้น.
การที่มีเทวดา ๔ นี้ เข้ากับเรื่องที่กล่าวไว้บางแห่งที่กล่าวว่า
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่รับคำสั่งจากเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ชั้นหัวหน้าเทวดาทั้งหมด
ให้ทำหน้าที่ช่วยพระสิทธัตถะออกให้ได้ สังเกตดูก็เข้ารูปดีอยู่กับภาพนี้.
การใช้รอยเท้าสองรอย เป็นเครื่องหมายตำแหน่งที่ลงจากม้านั้น ในแบบภารหุตนี้
เหมือนกันกับแบบสาญจีเลยทีเดียว, ควรตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งด้วยสำหรับการศึกษาที่กว้างออกไป.
สิ่งที่น่าสนใจเบ็ดเตล็ดในแง่โบราณคดีเป็นต้น
ในภาพนี้ก็มีอยู่ เช่นเครื่องแต่งศีรษะ, ต่างหูสี่เหลี่ยม, และผมหน้าม้าที่ใส่ปลอกและจัดให้ตั้งชันขึ้นแยกเป็นแสกกลางเหมือนผมหวี
ตลอดถึงเครื่องแต่งม้าบางอย่างที่น่าสนใจ เช่นมีอะไรบางอย่างที่คล้ายโกลนสำหรับเหยียบ
แต่มีช่องสอดเท้าเล็กนิดเดียวขนาดสอดได้แต่หัวแม่เท้าเท่านั้น หรือจะเป็นอะไรกันแน่ก็ยังไม่ทราบ.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๓๗
|