ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๓๒
ภาพพระจักรพรรดิในท่ามกลางรตนะ ๗ ประการ คือ ม้าแก้ว ช้างแก้ว ยอดขุนพลแก้ว จักรแก้ว ฉัตรแก้ว นางแก้ว ซึ่งย่อมสำเร็จแก่พระสิทธัตถกุมาร ถ้าอยู่ครองโลก.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ พ.ศ.๔๐๐-๗๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๓๒
ภาพนี้เรียกว่าภาพรตนะ ๗
อย่าง อันเป็นสิ่งที่จักรพรรดิจะต้องได้, พระสิทธัตถะเป็นบุคคลที่ถ้าอยู่ครองเรือนก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน
ตามคติของบุคคลที่ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ดังที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว,
ศิลปินจึงได้นำภาพรตนะ ๗ ประการมารวมไว้ด้วย.
สมบัติ ๗ ประการในภาพนี้
นับเรียงไปจากทางซ้ายมือก็คือ นางแก้ว, จักรแก้ว, ปริณายกแก้ว, คฤหบดีแก้ว,
ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, และแก้วมณี (ก้อนกลม ๆ ที่อยู่ตรงหน้าคนที่กำลังพนมมือ),
องค์พระจักรพรรดิคือผู้ที่นั่งอยู่ใต้ฉัตร ซึ่งมีคนคนหนึ่งถืออยู่ข้างหลัง,
ส่วนคนที่กำลังพนมมือนั้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการถวายหรือผู้ถวายสมบัติทั้งหมด.
ความหมายของแก้วทั้ง ๗ ประการนี้
ไม่ลึกซึ้งอะไร พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก คือ นางแก้วย่อมหมายถึง ภรรยาที่ดี
อันย่อมจะรวมถึงกิจการฝ่ายในทั้งหมดที่ดีที่สุดด้วยเป็นธรรมดา, จักรแก้ว
คือแสนยานุภาพที่ดีที่สุด, ปริณายกแก้ว คือข้าราชการที่ดีที่สุด, คฤหบดีแก้ว
คือเศรษฐีและพลเมืองที่ดีที่สุด, ช้างแก้ว คือยานพาหนะขนาดหนักที่ดีที่สุด
ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็ได้แก่กิจการรถไฟเป็นต้น, ม้าแก้ว ก็คือการคมนาคมที่ดีที่สุด
ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็ได้แก่กิจการระบบโทรคมนาคมอีกนั่นเอง เพราะสมัยโบราณใช้ม้าเป็นเครื่องมือสื่อสาร,
แก้วมณีนั้น เล็งถึงสติปัญญาอันเลิศของพระจักรพรรดิเอง เพราะเล็งถึงสิ่งที่ให้เกิดความสำเร็จได้อย่างสารพัดนึก.
ดังนั้นใคร ๆ ก็อาจจะมองเห็นได้เองว่า สิ่งที่เรียกว่าแก้ว ๗ ประการนั้นเป็นสิ่งจำเป็นแก่พระราชาเพียงไร
แม้กระทั่งแก่ระบบการปกครองบ้านเมืองสมัยปัจจุบันนี้.
ลักษณะของสิ่งของ ลวดลาย
กระทั่งการบรรจุภาพในภาพนี้นับว่าสวยงามน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๓๒
|