ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๓๐ ภาพขบวนแห่
ออกไปรับพระกุมารประสูติใหม่ จากที่ประสูติ ณ สวนลุมพินีกลับนคร. มีสิ่งที่น่าศึกษาหลายอย่างในภาพนี้. ภาพที่ติดต่อกับภาพนี้ทางเบื้องบน คือภาพพระมารดาบรรทมฝัน.
(จากหินสลัก แบบสาญี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๓๐
ภาพนี้เป็นภาพขบวนแห่ของกษัตริย์พุทธบิดา
ออกไปรับพระกุมารประสูติใหม่ที่สวนลุมพินี กลับมาสู่นคร. ขบวนกำลังออกประตูเมือง
มีประชาชนดูขบวนอยู่ตามเฉลียงเรือนหรือบนเชิงเทินที่ประตูเมืองเป็นต้น.
สิ่งที่น่าสังเกตหรือศึกษามีดังต่อไปนี้ :-
ขบวนนี้อยู่ในลักษณะของสิ่งที่เรียกกันว่า
จาตุรังคิกเสนาหรือเสนาประกอบด้วยองค์สี่ คือช้าง ม้า รถ และพลเดินเท้า
โดยสมบูรณ์, และที่หัวขบวนมีกองดุริยางค์นำหน้า เป่าเครื่องเป่าอย่างหนึ่ง
ซึ่งแปลกมากตรงที่ไม่ต้องเป่าถึงปากเหมือนเป่าปี่ เป็นต้น. ม้ามาหลังช้าง,
ช้างมาหลังรถ, รถมาหลังพลเดินเท้า, ซึ่งจะต้องเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย
และเป็นเรื่องวิชาการรบของสมัยโบราณที่ศึกษาค้นคว้ากันถึงที่สุดแล้ว. เนื่องจากช้างเหล่านั้นเป็นช้างรบ
มิใช่ช้างทรงของพระราชากระมัง จึงไม่มีเครื่องคลุมหรือเครื่องประดับใด
ๆ. คนที่ขี่ช้างขี่ม้าอยู่ในชั้นที่เป็นนักรบหรือพวกกษัตริย์จึงมีเครื่องประดับศีรษะชั้นสูง
ไม่โล้น ๆ เหมือนคนขับรถหรือพลเดินเท้า ดังนั้นคำที่ได้ยินอยู่เสมอ ๆ ในภาษาบาลีที่ว่า
หตถาโรหา และ อสสาโรหา นั้นคงมิได้หมายถึงพลชั้นเลวหรือวรรณะต่ำดังที่เข้าใจกัน
จักต้องเป็นนักรบที่เป็นวรรณะกษัตริย์ด้วย มิใช่ควาญช้างหรือคนขับรถให้ผู้อื่นนั่ง,
ในภาพนี้รถมีม้าลากสองตัว มีพระราชาหรือผู้แทนพระราชาประทับ ทราบได้ตรงที่มีฉัตรกั้น
และเป็นฉัตรชนิดที่มีมาลาแขวนตามแบบฉบับ.
ในภาษาไทยเรา คำว่าฉัตรหมายถึงฉัตรอย่างไทย
เป็นชั้น ๆ หลาย ๆ ชั้น และมิได้ใช้กั้นแดด, แต่ในภาษาอินเดียสิ่งที่เรียกว่าฉัตร
คือสิ่งที่เห็นอยู่ในภาพนี้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนร่มตามธรรมดา หรือกลดทั่วไป.
ฉัตรที่ทำเป็นชั้น ๓ ชั้น เล็กขึ้นไปตามลำดับนั้น มีพบแต่ฉัตรหินที่ทำติดไว้บนยอดพระสถูปยุคโบราณในอินเดียเช่นที่สาญจีเอง,
แต่ถึงกระนั้นก็มีน้อยที่สุด ตามที่ทราบกันในบรรดาสถูป ๑๔ องค์ที่สาญจีนั้น
ปรากฏว่ามีฉัตรหินสามชั้นแต่สำหรับสถูปหมายเลข ๑ คือองค์ใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น
นอกนั้นเป็นรูปดอกเห็ดชั้นเดียว. แม้ฉัตรหินที่ทำสำหรับกั้นเหนือพระพุทธรูปก็พบแต่ที่มีชั้นเดียว.
ฉัตรอีกแบบหนึ่งเป็นฉัตร ๓ คัน ปักเป็นแถวกัน อันที่อยู่ทางซ้ายขวาปักเอียงออก
ดังที่ปรากฏในภาพที่ ๔๗ ที่ยอดของพระสถูปซึ่งทำหน้าที่แทนพระบรมศพ, ซึ่งเป็นแบบสาญจีเหมือนกัน.
แบบอมราวดีไปไกลกว่านั้นอีก คือในตอนหลัง ๆ ทำเป็นฉัตรพวง, คือทำเหมือนอย่างว่า
กิ่งไม้แตกกิ่งออกไปรอบ ๆ ตัวหลายกิ่ง กระทั่งหลายสิบกิ่ง และกิ่งนั้นคือคันฉัตร
ที่ปลายกิ่งมีฉัตรแบบดอกเห็ดทุกกิ่ง จึงมีลักษณะเป็นฉัตรพวงหรือฉัตรกิ่งขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง,
ซึ่งยังไม่เคยพบในเมืองไทยเรา. สรุปความว่า ฉัตรกั้นมนุษย์แม้พระพุทธองค์เอง
มีแต่ฉัตรรูปเห็ดดอกเดียว ดังในภาพที่ ๓๐ นี้ทั้งนั้น. การที่นำเรื่องฉัตรมากล่าวไว้ในที่นี้ทุกแบบ
ก็เพื่อจะไม่ต้องกล่าวแยกไว้อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งทำความลำบาก และกินที่มาก.
ขอให้กำหนดหมายไว้สำหรับภาพต่อไปข้างหน้าด้วย เพื่อการสังเกตและเข้าใจเอาเองได้.
คำว่าฉัตรมีความหมายเปลี่ยนมาดังที่กล่าวมานี้, และพึงทราบว่า คำว่าฉัตรนี้
แปลว่าเห็ดก็ได้อีกด้วย ทั้งจะเป็นคำดั้งเดิมที่สุด เพราะฉัตรนั้นถอดแบบออกมาจากเห็ดนั่นเอง,
ขอแต่อย่าเอาฉัตรในเมืองไทยเป็นเกณฑ์ก็แล้วกัน.
สิ่งที่ควรศึกษาสังเกตต่อไปคือบ้านเมือง.
ในภาพนี้จะได้เห็นกำแพงเมืองและประตูเมือง บ้านเรือนและหลังคาบ้านตลอดจนถึงป่าที่นอกกำแพงเมืองออกมา.
จะต้องนึกไว้เสมอว่า ภาพหินสลักนี้ทำไว้ตั้งสองพันปีเศษมาแล้ว และไม่มีภาพสลักยุคไหนเก่าเท่าชุดนี้
จึงเป็นที่สนใจของนักศึกษาหรือนักโบราณคดีอย่างยิ่ง ดังที่ศาสตราจารย์
ริดส์ เดวิดส์ แนะไว้. ที่ยอดหลังคา มีตุ่มแหลม ๆ เป็นแถว ทำนองจะเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่าบราลีในเมืองไทยเรา,
ประตูเมืองจริง ๆ ก็คงจะแคบมากดังในภาพนี้, ที่ชวนคิดอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ
ลายแบบรั้วอโศกนั้น ทำไมจึงไปมีอยู่ในลักษณะลูกกรงเฉลียงหรือนอกชาน หรือเชิงเทิน,
เมื่อระลึกถึงข้อที่นักโบราณคดีถือกันว่า ลวดลายสลักหินตามสถูปนั้น เป็นภาพหรือลวดลายของสิ่งที่เคยเป็นไม้มาในยุคก่อนหน้านั้น
แม้จะทำด้วยหินก็ยังคงทำให้เหมือนไม้อยู่นั่นเอง ดังนี้แล้วก็ชวนให้คิดไปว่า
ไม้ไผ่ขัดแตะอย่างบ้านเรานั่นเอง คือต้นกำเนิดของลายรั้วอโศก, ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง
ก็ไม่เป็นการประหลาดอะไรที่ลายรั้วอโศกมามีอยู่ตามลูกกรงเฉลียงเรือนเช่นในภาพนี้.
เมื่อดูที่จั่วมุขซุ้มประตูเมือง จะเห็นว่ามีหัวไม้แปยื่นออกมาจากจั่ว
ใต้เครื่องมุงโดยรอบ ไม่ผิดจากหลังคาแบบประทุนเรือ ของเรือนมุงแฝกหรือกระท่อมนักบวชมุงด้วยใบไม้
ดังที่ปรากฏในภาพเขียนแบบที่ถ้ำอชันตานั่นเอง. แม้จะทำด้วยอิฐ หิน และปูนในตอนหลัง
ก็ยังอดทำตามแบบที่ทำด้วยไม้แห่งยุคก่อนหน้านั้นไม่ได้. ที่เสาประตูเมืองริมซ้ายมีช่องเจาะไว้สำหรับมองหรืออะไรอย่างหนึ่งของคนที่อยู่ในนั้น
นี้แสดงว่าไม่ใช่เสาโดยตรง แต่เป็นของใหญ่และกลวง มีช่องสำหรับติดต่อกับคนข้างนอก
และมีกันสาดบังมิให้ฝนสาดเข้าไปในนั้น ซึ่งคงจะเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการสร้างประตูเมืองสมัยนั้น
อันเป็นประโยชน์ทั้งในด้านงานพลเรือนและงานรบพุ่ง.
ในแง่ของวัฒนธรรม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็น่าจะได้แก่ยอดคันธงที่มีเครื่องหมาย
ติรตนะ (เรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับ
ติรตนะ นี้ ดูคำอธิบายภาพที่ ๗-๘)
ติดอยู่. นี้เป็นการแสดงว่า เอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดมาเป็นเครื่องเตือนใจและเป็นเครื่องรางคุ้มครองในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทถึงที่สุด
ลักษณะของธงเป็นอย่างที่เรียกว่าปฏากะ คือเป็นแผ่นผ้ายาว ทางหัวด้านหนึ่งติดไม้ยาวเท่าความกว้างของผ้า
แล้วยึดไม้อันนั้นไว้ด้วยไม้อีกสองอันที่ยื่นออกมาจากคันธงโดยตรง (ดูภาพธงที่ริมบนสุดตรงกลางภาพ)
แต่น่าประหลาดที่ว่าธงนั้นไปมีอยู่ตอนท้าย ๆ ขบวน, มิได้อยู่นำหน้าขบวนเหมือนแบบที่เรากระทำกันอยู่,
ข้อนี้ทำให้นึกถึงการจัดขบวนแห่พระธาตุประจำปีที่สารนาถที่เคยไปเห็นมา
คือมิได้เอาฉัตร (แบบธิเบต) และธงต่าง ๆ ไว้นำขบวน กลับเอาไปไว้ตรงหน้าช้างและหลังช้าง
ที่ใช้ทรงพระบรมธาตุ, ดังนั้นความคิดที่ว่าถือธงนำหน้าขบวนนั้น อาจจะเป็นของใหม่มากก็ได้
ควรจะสืบสวนดู, แม้ภาพธงมีติรตนะที่ยอด ในภาพที่ ๕๐ ซึ่งเป็นภาพกองทัพแท้
ๆ ก็ยังเอาธงนั้นไว้ตอนท้าย ๆ ขบวนอีกเหมือนกัน.
การผูกแต่งสัตว์เช่นม้าเป็นต้น
ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เช่นการผูกหางม้าไว้เสียกับเชือกรัดข้างตัวม้า มิให้กวัดแกว่งเกะกะหรือถึงกับเหวี่ยงเอาหน้าคนขับรถนั้น
เป็นสิ่งที่คิดได้และทำกันมาแล้วเกินสองพันปี สมกับที่จะเป็นม้าที่ทะมัดทะแมงโดยแท้จริง.
เครื่องประดับที่ทำให้สวยงามอย่างอื่น ๆ ก็ล้วนแต่น่าสนใจ และต้องเป็นต้นกำเนิดของวิชาการผูกม้าของชนชาติในเอเชียแต่โบราณมาแล้วโดยไม่ต้องสงสัย,
ไม่มากก็น้อย.
มีภาพคันธนูหรือศร ที่ขึ้นสายไว้เสร็จอยู่จำนวนหนึ่ง
ชวนให้คิดว่าการที่ต้องขึ้นสายไว้พร้อมอยู่จำนวนหนึ่งนั้น เป็นวิธีการที่เรียกว่า
"เตรียมพร้อม" อยู่เสมอนั่นเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รักษาพระองค์.
อาวุธยิงไกลทุกชนิด ภาษาไทยโบราณเรียกว่าปืนทั้งนั้น, ดังนั้นจะเรียกว่ามีทหารถือปืนในขบวนก็กล่าวได้,
ขอแต่ให้เขียนรูปปืนเป็นคันศรเช่นในภาพนี้เป็นต้นก็แล้วกัน อย่าไปเขียนเป็นรูปปืนปัจจุบันเหมือนที่เขียนตามผนังโบสถ์ไทยเรา,
เพราะนั่นเป็นปืนชนิดที่เรียกว่าปืนไฟ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า fire arms
ต่างหาก หาใช่ปืนเฉย ๆ ไม่ คนไทยโบราณเรียกปืนหมายถึงคันศร เป็นต้น แต่ลูกหลานชั้นหลังเอามาใช้กับปืนสมัยปัจจุบันเสียเอง
แล้วจะไปโทษใครในเมื่อถูกเขาล้อ หรือแม้แต่ถามว่า มีปืนแบบฝรั่งใช้กันแล้วตั้งแต่สมัยสองพันปีเศษมาแล้วเทียวหรือ
เพราะตัวไปเขียนภาพปืนชนิดนั้นเข้าไปในภาพพุทธประวัติทำนองนี้ตามผนังโบสถ์นั่นเอง,
ผู้เขียนก็ดี เจ้าภาพผู้ให้เขียนก็ดี พึงตั้งข้อสังเกตและระมัดระวังกันใหม่
อย่าให้ฝาผนังโบสถ์ซึ่งเขียนเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสิ่งซึ่งทำลายความศักดิ์สิทธิ์ไปเสียเองอีกต่อไปเลย.
สำหรับในแง่ของศิลป์นั้น
อยากจะแนะให้สังเกตภาพงวงช้างซึ่งม้วนอยู่กับงาบ้าง พักอยู่บนงาบ้าง ซึ่งสวยกว่าและเป็นธรรมชาติกว่าที่จะปล่อยให้ตกลงไปเฉย
ๆ เหมือนที่ทำกันโดยมาก. ภาพพุ่มไม้นอกเมือง ก็นับว่าเป็นลวดลายที่งดงามน่าสนใจอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งควรติดตาม และนำมาใช้ในศิลปะไทยอย่างเหมาะสมบ้าง.
รวมความแล้วก็ว่า ภาพที่
๓๐ นี้ ให้ความรู้ทางโบราณคดีอย่างยิ่ง ควรศึกษากันในแง่นี้เป็นพิเศษ.
หมายเหตุ : - ขอบอกกล่าวไว้ด้วยว่า ภาพนี้ มิได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีตอนล่างต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง เป็นภาพกลางสวนป่า มีต้นโพธิ์ขนาดเล็กอยู่ในคอกรั้วแบบรั้วอโศกเล็ก ๆ อยู่ด้วย ซึ่งหมายถึงพระกุมารประสูติใหม่โดยแน่นอน. การที่ภาพนี้ มีเพียงเท่าที่เห็นนี้ ก็เพราะเหตุบังเอิญ คือในตอนที่ปั้นภาพนี้ เรามีต้นฉบับที่ถ่ายมาเพียงเท่าที่เห็นนี้ด้วยความพลั้งเผลอ เพราะภาพนี้ของจริงยาวเกินไป ใคร ๆ ก็มักถ่ายเอามาแต่ตอนนี้. บัดนี้กำลังปั้นจำลองใหม่ให้สมบูรณ์ และจะพิมพ์ขึ้นใหม่ในโอกาสหลัง.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๓๐ ภาพขบวนแห่
|