ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๗
ภาพเทวดาพากันเข้าไปอัญเชิญพระโพธิสัตว์ (แท่นว่าง) ให้เสด็จจุติลงมาบังเกิด เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลก. ริมล่างมีภาพพระมารดาบรรทมฝัน และช้างแทนพระโพธิสัตว์ที่กำลังจุติ.
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.๔๐๐-๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๗
นับตั้งแต่ภาพที่ ๒๗ นี้เป็นต้นไป
นับได้ว่าเป็นภาพโดยสมบูรณ์ มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ล้วน ๆ หรือครึ่งภาพครึ่งสัญลักษณ์
เหมือนที่แล้ว ๆ มาตั้งแต่ต้นจนถึงภาพที่ ๒๖ แต่อย่างไรก็ตาม คงมีสัญลักษณ์อยู่ที่การไม่ทำภาพพระพุทธองค์โดยเฉพาะอยู่นั่นเอง.
ภาพที่ ๒๗ นี้ เป็นภาพเทวดาประชุมกัน
แล้วเข้าไปทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงมาบังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลก,
และตอนริมล่างนั้น เป็นภาพพระมารดาฝันเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จจุติลงมาสู่ครรภ์ของพระนางในลักษณะที่เป็นช้าง.
ควรทราบเป็นหลักทั่ว ๆ ไปเสียตั้งแต่บัดนี้ว่า
หินสลักแบบสาญจีนั้น นิยมใช้แท่นว่างเฉย ๆ เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์
จะมีสิ่งอื่นเพิ่มเข้ามาบ้าง ก็เพียงเครื่องหมายติรตนะ บนเท่นนั้น (แต่ก็มีน้อยที่สุด
เช่นในภาพชุดนี้ก็มีเพียงภาพเดียว คือภาพที่ ๔๑), และหินสลักแบบภารหุตนั้นยิ่งเคร่งครัดไปกว่านี้อีก,
ส่วนหินสลักแบบอมราวดีนั้น นิยมใช้สัญลักษณ์หลายอย่างด้วยกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือ
รูปเสามีไฟลุกโดยรอบ, รอยพระบาท, และอื่น ๆ.
ในภาพนี้ แท่นว่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านั้นเอง
คือสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์, สังเกตได้ง่าย ๆ ตรงที่มีต้นโพธิอยู่ข้างบน;
และให้สังเกตไว้เสียเลยว่าต้นโพธินั้น จะทำเหมือนกันในทุก ๆ ภาพ คือมีพวงมาลาแขวนตามกิ่ง
มีฉัตรกั้นอยู่ข้างบน มีเทวดาแบบมาตรฐานโดยเฉพาะขนาบสองข้าง, ถ้าทำเต็มที่ดังในภาพนี้ก็มีข้างละ
๒ ตัว คู่บนเป็นเทวดาชนิดที่มีปีกหางของตนเอง คู่ล่างต้องขี่สัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง,
ถ้าไม่ทำเต็มที่ ดังเช่นในภาพอื่น ๆ โดยมาก ก็มีเทวดาชนิดคู่บนเท่านั้น,
นี้เป็นหลักทั่วไป ซึ่งจะต้องจำไว้ก่อนเพื่อความง่ายในการศึกษาภาพต่อ ๆ
ไป. เทวดาที่ยืนล้อมพระแท่น รวม ๑๓ องค์นั้น คือเทวดาที่เข้ามาอัญเชิญ,
องค์ที่อยู่ตรงกลางตรงหน้าพระแท่น มีลักษณะเป็นหัวหน้าหมู่ หรือผู้อัญเชิญ
ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงใคร่ครวญเหตุผลและความเหมาะสมทุกอย่างแล้ว
ก็รับเชิญตามความประสงค์ของเทวดาเหล่านั้น.
ในภาพครึ่งล่างที่คั่นไว้ด้วยลายรั้วแบบรั้วอโศกนั้น
ภาพสตรีนอน หมายถึงพระมารดาหรือพระนางมหามายา กำลังบรรทมหลับและทรงสุบินว่ามีช้างเผือกมาวนรอบ
ๆ พระนาง แล้วเข้าไปในอุทรของพระนาง, มีภาพคนโผล่หน้า ๕ คน หมายถึงเทวดาที่ปรนนิบัติ
ตามท้องเรื่องที่ว่า เทวดาได้ยกพระนางไปทั้งเตียงไปยังสุวรรณบรรพต ซึ่งงดงามไปด้วยป่าไม้ที่อึงอลไปด้วยเสียงแห่งนกยูง,
ให้สรงสนาน ให้ประดับตกแต่ง แล้วให้บรรทม, เทวดาที่อยู่ชิดพระบาทมีแส้ปัดแมลงอยู่ในมือ
ซึ่งหมายถึงการปรนนิบัติ, ทั้งหมดนี้เป็นไปภายใต้มณฑปหรือปราสาท บนยอดสุวรรณบรรพตนั้น.
เทวดาผู้ชายมีผ้าโพกสูง, เทวดาผู้หญิงมีเครื่องคลุมศีรษะบาง ๆ.
ในแง่ของโบราณคดีนั้น ศาสตราจารย์
ริดส์ เดวิดส์ แนะให้ศึกษาลักษณะของหลังคาและตัวอาคารนั้น ๆ เพื่อทราบถึงสถาปัตยกรรมแห่งอินเดีย
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ ซึ่งอาจใช้ได้ด้วยกันกับสมัยพระพุทธองค์เอง คำกล่าวอันนี้ใช้ได้กับภาพทั้งหลายอันจะมีมาข้างหน้า
จะไม่กล่าวอีก.
ในแง่โบราณคดีของศิลป์นั้น
ในภาพนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งอยู่ภาพหนึ่ง คือลายก้านขดที่ขอบยืนสองข้างของภาพ
ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นแบบเฉพาะของสาญจีทีเดียว. สิ่งที่น่าสังเกตไว้ก็คือ
ลวดลายนี้ไปมีอยู่ที่หินสลักในราชวังของกษัตริย์อิสลามที่เข้ามายึดครองอินเดีย
ในระยะ ๑,๐๐๐ ปีเศษต่อมา ทำให้มีผู้เข้าใจไปว่าต้นกำเนิดลายก้านขดนั้นเป็นของมุสลิม
โดยที่ไม่ได้สังเกตเห็นสิ่ง ๆ นี้ที่สถูปสาญจี ที่เก่ากว่าราชวังมุสลิมตั้งพันกว่าปีนั่นเอง.
ลายก้านขดชนิดนี้ ของจีนก็มี แต่เรายังค้นไม่ได้ว่าของจีนนั้น ตั้งต้นในสมัยใดกันแน่
และอาจจะเป็นได้เหมือนกันว่า ลายก้านขดของจีนนั้น รับไปจากอินเดีย ดังเช่นวัฒนธรรมอื่น
ๆ ที่เป็นศิลปะขีดเขียน ที่นำไปใช้เขียนภาพโบราณในถ้ำที่เป็นของพุทธศาสนา
เช่นถ้ำที่ภูเขายุงกังและตุนฮวง เป็นต้น. ส่วนข้อที่ลวดลายแบบนี้ได้มาถึงไทยเรา
โดยผ่านทางสายไหนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป ในที่นี้ต้องการแต่จะชี้ให้เห็นว่า
ลายก้านขดที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ควรจะได้แก่ลายก้านขดที่สาญจี อันมีอายุตั้งสองพันปีเศษมาแล้วนี่เอง.
สิ่งที่น่าสังเกตในแง่ของธรรมะอีกอย่างหนึ่งก็คือท่าบรรทมของพระมารดานั้น
เป็นท่าสีหไสยา เช่นเดียวกับท่านอนของผู้ปฏิบัติกรรมฐาน หรือผู้ปฏิบัติชาคริยานุโยค
ซึ่งกำหนดไว้ในหลักปฏิบัติธรรมอย่างตายตัว. เป็นท่านอนของผู้มีสติสมบูรณ์
กระทั่งเป็นท่าปรินิพพานของพระอรหันต์ รวมทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย
จนถือกันว่าเป็นท่าแห่งอิริยาบถที่ศักดิ์สิทธิ์ท่าหนึ่ง, ทำไมศิลปินจึงทำภาพพระมารดาด้วยท่านอนท่านี้
เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรมอินเดียที่แนบสนิทอยู่กับปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา.
ภาพนี้ ควรจะได้รับการศึกษาเปรียบเทียบกันกับภาพที่
๒๙ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในคำอธิบายของภาพนั้น.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๗
|