ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๔ สัญลักษณ์การประสูติ
โดยขีด ๓ ขีด ทั้งตามนอนทั้งตามตั้งอัดเข้าด้วยกันอย่างสนิท เชื่อมไว้ที่ตรงมุมด้วยลวดลายสวัสติกะ
ซึ่งหมายถึง "การหมุน" หรือ "การวิ่ง" ในลักษณะที่งดงามที่สุด.
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.
๓๐๐๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๔
ภาพสัญลักษณ์การประสูติในภาพนี้
เป็นแบบภารหุต แต่ก็มีความน่าอัศจรรย์ไม่น้อยไปกว่าแบบอมราวดีในภาพที่แล้วมา,
และยังเก่าก่อนกว่าแบบอมราวดีสัก ๓๐๐ ปี. ถ้าหากภาพนี้ มิได้รวมอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์การประสูติ
ประเภทที่ทำเป็นดอกบัวหรือกอบัวแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสันนิษฐานได้ง่าย ๆ
ว่า เป็นสัญลักษณ์ของการประสูตินั้นเหมือนกัน.
สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือ
ในวงกลมนั้น ประกอบอยู่ด้วยขีด ๓ ขีด, ตามนอนบ้าง ตามตั้งบ้าง, และตรงปลายสุดที่มันบรรจบกันนั้น
ประดิษฐ์เป็นลายสวัสติกะ (ซึ่งหมายถึงการหมุนเชี่ยว) มีดอกบัวบานเล็ก ๆ
อยู่เป็นใจกลาง, ทำให้เกิดความคิดว่า สิ่งทั้งสามนี้ แต่ละกลุ่มหมุนอย่างสัมพันธ์กันไปอย่างไม่มีชะงัก,
ส่วนความหมายจะหมายถึงอะไรนั้น ต้องขอปล่อยให้แต่ละคนคิดเอาเองอย่างเป็นอิสระ
ดังในภาพที่แล้วมา.
สำหรับสิ่งที่มีจำนวนสาม
และมีความสำคัญสมกับที่จะเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็มีอยู่มากด้วยกัน
เช่นพระรัตนตรัย (ซึ่งจัดได้ว่า เป็น ตรีมูรติ ของพุทธศาสนา), สิกขาสาม,
วิชชาสาม, สามัญญลักษณะสาม เป็นต้น, กระทั่งถึงพวก ภพสาม ตัณหาสาม ฯลฯ,
แม้ที่สุดแต่ของใหม่ ๆ เช่นสัทธรรมสาม, พุทธคุณสาม (คือบริสุทธิคุณ ปัญญาคุณ
เมตตาคุณ) เป็นต้น, แต่การที่จะนำเอาพุทธคุณสามเป็นต้น ไปจับกันกับขีด
๓ ขีดในที่นี้ ดูไม่มีทางจะเป็นไปได้, เพราะการจัดพุทธคุณเป็นสามเช่นนี้เป็นของใหม่สมัยพุทธโฆษาจารย์จอมอรรถกถาเป็นอย่างมาก
ไม่เก่าถึงสมัยภารหุตเลย, ดังนั้น เท่าที่จะเป็นไปได้ ก็ต้องเล็งถึงรตนะสาม
หรือวิชชาสาม เป็นต้น เป็นแน่นอน.
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะไม่สามารถทราบความหมายอันแท้จริงของสัญลักษณ์ภาพนี้
เราก็มีความยินดีมากพอแล้วที่ได้เห็นว่า สัญลักษณ์ของการประสูติของพระพุทธองค์นั้น
ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นภาพที่แสนจะงดงามและลึกซึ้งสมกับที่พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์จริง,
ถ้าจะให้พวกคนสมัยนี้ทำ จะได้ภาพชนิดไหนออกมา ก็เหลือเดา.
สัญลักษณ์การประสูติที่ทำเป็นลักษณะของสัญลักษณ์แท้
ๆ นำมาให้ดูเป็นตัวอย่างเพียง ๒๔ ภาพเท่านี้, ต่อจากนี้เป็นไปในลักษณะของ
ครึ่งสัญลักษณ์ครึ่งภาพเหมือน ซึ่งมีอยู่ ๒ ภาพด้วยกัน, หลังจากนั้น ก็เป็นภาพเหมือนโดยตรง
หากแต่ไม่มีรูปพระพุทธองค์เท่านั้นเอง เพราะได้ทิ้งว่างไว้ตามแบบของศิลปะยุคก่อนมีพระพุทธรูปเกิดขึ้นในโลก.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๔
|