ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๓ สัญลักษณ์การประสูติ
คือลวดลายขยุกขยิก ที่ดอกหนึ่งมีเส้นแบ่ง เป็น ๖ แฉก หรือ ๖ แง่ง, เล็งถึงอะไร
ลองวิจารณ์กันดู.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ
พ.ศ. ๕๐๐๖๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๓
ลายขยุกขยิก ดวงหนึ่งมี
๖ แฉกรวมกันหลายดวงในภาพนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติของพระพุทธองค์
ที่น่าสนใจที่สุด. หินส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหินแท่งยาวแท่งเดียวซึ่งสลักเป็น
๔ ช่อง แต่ละช่องคั่นกันไว้ด้วยลายบัวครึ่งซีกบนและล่าง และโยงไว้ด้วยเส้น
๒ เส้น ดังที่ท่านจะเห็นได้ในภาพนี้ทางขวามือ (ของคนดู), ในช่องทั้งสี่นั้น
ช่องที่หนึ่งคือภาพลายขยุกขยิกนี้, ช่องที่สองมีภาพต้นโพธิ์ตรัสรู้, ช่องที่สามวงล้อธรรมจักร,
ช่องที่สี่สถูปปรินิพพาน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่า สัญลักษณ์ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ.
ถ้าหากมิได้อยู่ในหินแท่งเดียวกันกับภาพทั้งสามที่ถัดไป เช่นไปอยู่โดดเดี่ยวในที่ใดที่หนึ่ง
ก็เป็นการยากหรือถึงกับเป็นการสุดวิสัยด้วย ที่พวกเราในเวลานี้จะทราบได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอะไร.
ภาพลายมังกรคาบกันข้างบน และสัตว์เรียงแถวข้างล่างนั้น เป็นเพียงลวดลายประดับ
ไม่เกี่ยวกับสัญลักษณ์เพราะยาวตลอดไปสุดแผ่นหินทั้ง ๔ ช่อง. ปัญหาเหลืออยู่แต่ว่าลายขยุกขยิกนี้
มีความหมายอย่างไร ในทางที่เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ. ยังไม่มีเวลาสอบถามชาวอินเดียผู้คงแก่เรียนในทางวัฒนธรรมโบราณของเขา,
ทั้งยังไม่แน่ใจว่า แม้ชาวอินเดียเองก็จะเป็นผู้ทราบความหมายของภาพนี้โดยถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ทำ
เพราะทำไว้เป็นเวลาถึง ๑,๗๐๐ ปีเศษมาแล้ว, ดังนั้น ปล่อยให้คิด ให้ทาย
หรือให้เดากันเอาเอง สนุกดี. ฝรั่งนักศึกษาหนุ่ม ๆ คนหนึ่งดูแล้วตอบคำถามของข้าพเจ้าว่า
คงจะเป็นภาพของมดลูกตัดตามขวาง แล้วก็หัวเราะกันใหญ่ เพราะเป็นมะทีเรียลลิสติคมากเกินไป
ในที่สุดก็ยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เป็นที่พอใจแก่ทุกคน.
ข้าพเจ้าเองเดาเอาว่า ๖
แง่งนี้คงจะหมายถึงธาตุ ๖ ธาตุ ที่ประกอบกันเข้าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ได้แก่ธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ดังที่ตรัสไว้ในบาลีธาตุวิภังคสูตร,
แต่แล้วก็ฉงนว่าจะไม่ใช่เสียแล้ว เพราะในลายดวงหนึ่งนั้น แบ่งออกเป็น ๓
แฉกก่อน แล้วปลายของแฉกหนึ่งแบ่งออกเป็น ๒ แฉก จึงรวมกันเป็น ๖ แฉก มิได้แบ่งออกเป็น
๖ แฉกออกไปโดยเท่า ๆ กัน พร้อม ๆ กัน, ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ ฝากไว้ให้คิดกันเอาเอง,
ในใจได้แต่นึกชมความคิดของผู้ทำเมื่อพันกว่าปีมาแล้วนั้นเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ
ที่บริเวณร่วมกลางของภาพ ตามระหว่างดอกหกแง่งนั้น มีก้อนกลม ๆ ๖ เหลี่ยม,
๔ ก้อน, แทรกอยู่ในลักษณะที่ล้อมรอบ "ดวงหกแง่ง" ดวงหนึ่งในทำนอง
๔ ทิศหรือ ๔ มุม, นี้ก็ต้องเป็นความมุ่งหมายของผู้ทำที่เล็งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ด้วยน้ำหนักที่ไม่น้อยกว่าความหมายของ "หกแง่ง" นั้นเหมือนกัน.
ภาพนี้เป็นภาพแบบอมราวดีรุ่นแรก
ๆ แต่คงจะหลังรุ่นที่ทำหม้อปูรณฆฏะเป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ, ส่วนอมราวดียุคกลางและยุคปลาย
ทำเป็นภาพพระมารดายืนเหนี่ยวกิ่งไม้ประสูติ มีรอยเท้าอยู่ในผ้าที่เทวดาใช้รับพระกุมาร
ซึ่งมิได้ทำเป็นรูปทารก แต่ทำเพียงรอยเท้านั่นเองไปทั้งนั้น, แม้ในรุ่นที่พ้องสมัยกันกับศิลปะตระกูลคันธาระ
ก็มิได้พบแบบที่ทำองค์ทารกพุ่งออกมาจากข้างสะเอวเหมือนแบบคันธาระเป็นต้นนั้นเลย.
อย่างไรก็ตาม ขอชมความคิดของศิลปินผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของการประสูติในภาพนี้อีกครั้งหนึ่ง
ก่อนที่จะผ่านไปยังภาพต่อไป.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๓
|