ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๒๒ สัญลักษณ์การประสูติ
ภาพกอบัวบาน ในหม้อปูรณฆฏะ ซึ่งมีรูปร่างแปลกน่าสนใจว่าจะเกี่ยวกับแบบจีน
ฝรั่ง บ้างหรือเปล่า.
(จากหินสลัก แบบอมราวดี สมัยอันธระ
พ.ศ. ๕๐๐๖๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๒๒
หม้อปูรณฆฏะแบบนี้ มีความสำคัญยิ่งกว่าแบบอื่นทุกแบบเท่า
ๆ กับที่มีความงามยิ่งกว่าแบบอื่นทุกแบบนั้นเหมือนกัน. ภาพนี้เป็นแบบอมราวดี
สมัยกลาง.
ที่กล่าวมามีความสำคัญยิ่งกว่าแบบอื่นทุกแบบนั้น
ก็เพราะแบบนี้ ปรากฏอยู่ในที่ซึ่งต้องการแสดงภาพของการประสูติ อย่างเคียงขนานกันไปกับภาพที่แสดงถึงการตรัสรู้
การแสดงธรรมจักรและการปรินิพพานโดยตรง. สำหรับภาพแสดงเหตุการณ์ ๓ อย่างหลัง
คือตรัสรู้ ธรรมจักร และนิพพานนั้น ทราบกันอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่า ได้แก่ภาพต้นโพธิ์
ลูกล้อและสถูปดิน ตามลำดับ, ส่วนเหตุการณ์อย่างแรกคือการประสูตินั้น ยังฉงนกันอยู่มาก
ว่าแสดงด้วยภาพอะไรเป็นสัญลักษณ์. ในที่สุดก็พบหม้อปูรณฆฏะแบบนี้ตั้งอยู่ที่ตำแหน่งนั้น
ซึ่งมีทั้งแบบมถุรา, และแบบอมราวดี ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ เข้าแถวเคียงกันไปตามนอน
หรือสูงขึ้นไปตามตั้ง ด้วยกันกับภาพสัญลักษณ์อีก ๓ เหตุการณ์ดังที่กล่าวแล้ว.
ยิ่งในแบบคันธาระด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัด เพราะมีคนพนมมือขนาบอยู่สองข้างของหม้อ.
แต่เนื่องจากภาพชนิดนี้มีน้อยมาก จึงไม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเหมือนภาพต้นโพธิ์
วงล้อและสถูปดินเหล่านั้น.
สรุปความว่า หม้อปูรณฆฏะแบบนี้
ในสมัยอมราวดีและสมัยมถุรา ได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติโดยตรง, และสมัยคันธาระนั้น
มีลักษณะคล้ายกับจะใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์โดยทั่ว ๆ ไปด้วย, หากแต่ว่าดอกไม้ที่ปักอยู่ในหม้อนั้นมิได้ทำเป็นดอกบัวเสมอไป
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคติที่ศิลปินชาวกรีกถืออยู่นั้น ไม่ตรงเป็นอันเดียวกันกับของศิลปินชาวอินเดีย.
ในสมุดเล่มนี้ บรรจุอยู่แต่ภาพที่เราจำลองขึ้นเสร็จแล้วเท่านั้น
จึงไม่มีภาพของหินสลักบางภาพที่กล่าวถึง เพราะยังไม่ได้จำลองขึ้น เนื่องจากจำลองยาก.
ผู้ที่สนใจจริง ๆ จงตรวจดูจากหนังสือเรื่อง On the Iconography of the
Buddha's Nativity เขียนโดย A. Foucher, พิมพ์ลงในแถลงการณ์ชุด Memoirs
of the Archaeological Survey of India เล่มที่ ๔๖ โดยตรง ซึ่งมีทั้งภาพและเรื่องราวอย่างครบถ้วนโดยพิสดาร.
หม้อปูรณฆฏะแบบนี้ บางทีถูกสลักเป็นภาพหม้อแถวก็มีเหมือนกัน
แต่มิได้อยู่ในลักษณะที่เป็นเพียงลวดลายประดับหากเป็นตัวเรื่องราว หรือมี
Motif ไปในทางที่เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์นั่นเอง, และน่าประหลาดที่ว่า
ทำไมหม้อปูรณฆฏะแบบอื่น ไม่ถูกทำขึ้นในลักษณะเช่นนั้นบ้าง ดังนั้นจึงถือว่า
หม้อปูรณฆฏะแบบนี้ มีความสำคัญที่สุด เท่ากับมีความงามมากที่สุด ดังที่กล่าวแล้ว.
กอบัวในหม้อในภาพนี้ มีดอกตูม
๒ ดอก, ดอกแย้ม ๒ ดอก, ดอกบาน ๓ ดอก, ฝักบัว ๑ ฝัก, แล้วยังแถมมีดอกและใบ
และผลไม้ชนิดอื่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นไม้อะไรทั้งที่โคนกอบัว
และที่ฐานของหม้อทั้ง ๒ ข้าง. ที่ตัวหม้อก็มีลวดลายที่แปลกและงามตามแบบอมราวดีแท้.
ตัวอย่างภาพสัญลักษณ์แห่งการประสูติ
ที่เป็นภาพดอกบัวและกอบัวในลักษณะต่าง ๆ กัน เท่าที่นำมาแสดงนี้ นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว,
ต่อไปนี้เป็นภาพสัญลักษณ์ของการประสูติ ที่แสดงด้วยลวดลายที่ประหลาดอีก
๒ ภาพ.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๒๒
|