ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๑๔ สัญลักษณ์การประสูติ
ดอกบัวบานที่ใจกลาง ล้อมด้วยลายเครือเถาบัวขึ้นมาจากหม้อเต็มด้วยน้ำ
แบบปูรณฆฏะ ซึ่งมีมากแบบ.
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.
๓๐๐๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๑๔
ภาพสัญลักษณ์การประสูติของพระพุทธองค์
ตั้งแต่ภาพที่ ๑๔ นี้ไปจนถึงภาพที่ ๒๒ เป็นประเภทที่เรียกว่า ดอกบัวในหม้อปูรณฆฏะ,
มีแบบต่าง ๆ กัน และเลือกคัดเอามาเป็นตัวอย่าง เท่าที่น่าสนใจ รวม ๙ แบบ.
หม้อปูรณฆฏะในที่นี้ หมายถึงหม้อเต็มด้วยน้ำและมีดอกบัวหรือดอกบัวโผล่ขึ้นมาในลักษณะที่เบิกบาน;
เป็นสัญลักษณ์แห่งการเกิด (Nativity) ของพระพุทธองค์ได้อย่างไร จะวิจารณ์กันโดยละเอียดในคำอธิบายของภาพที่
๒๒ ซึ่งเป็นแบบหม้อปูรณฆฏะแบบที่ปรากฏมากที่สุด ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระองค์
ในระดับเดียวกันกับความที่ ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้, วงล้อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงธรรมจักร,
และสถูปรูปเนินดินเป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพาน. และในบางกรณีในศิลปะตระกูลคันธาระ
ได้ใช้ภาพหม้อนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์โดยตรงก็ยังมี.
ในภาพนี้ มีกอบัวขึ้นมาจากหม้อหรือไหหรือตุ่ม
เป็นเครือเถาเลื้อยรอบดอกบัวบานที่เป็นประธานของเรื่องนี้อยู่ตรงกลาง ทำให้เรียกได้ว่า
มีหม้อปูรณฆฏะนั้น เป็นสิ่งประกอบของดอกบัว. เครือเถานั้น ประกอบด้วยดอกบัวบานเต็มที่
๘ ดอก ซึ่งเป็นจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับจำนวนสิงห์มีปีก ๘ ตัว
ในภาพที่แล้วมา. มีดอกบัวตูม ๑ ดอก และใบบัว ๓ ใบ รวมอยู่ในส่วนนอกนี้.
ดอกบัวที่ใจกลาง มี ๑๒ กลีบ,
๓๖ เส้นเกสร, ส่วนที่ใจกลางจริง ๆ แทนที่จะมี ๗ จุดเหมือนภาพอื่นโดยมากกลับมีภาพสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุด
คือภาพความหมุนอย่างรุนแรงที่เรียกกันทั่วไปว่า สวัสติกะ หมายถึงล้อแห่งธรรมจักรที่กำลังหมุนอย่างเต็มที่
เหมาะสมที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการที่พระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นอย่างยิ่ง,
น่าชมความคิดของผู้ทำ ตรงที่เพิ่มความหมายให้แก่ความบานของดอกบัว ด้วยความหมุนของพระธรรมอีกต่อหนึ่ง,
ซึ่งทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกมากมาย กว่าที่จะทำเป็นเพียงจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
เหมือนที่แล้ว ๆ มา.
ภาพนี้สวยงามมาก ตรงที่ตระการตาไปด้วยดอกบัวและความหมายอันลึกซึ้งอย่างกลมกลืนกัน.
น้ำที่เต็มอยู่ในหม้อ เปรียบด้วยพระธรรม, บัวที่เกิดจากน้ำในหม้อ เปรียบด้วยพระพุทธเจ้าเกิดจากพระธรรม,
นี้คือความหมายทั่วไปของหม้อปูรณฆฏะ ตามความหมายของพุทธบริษัท.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๑๔
|