ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๑๑ สัญลักษณ์การประสูติ
ภาพดอกบัวบาน มีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประกอบ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ช้าง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระองค์
(จากหินสลัก แบบสาญจี สมัยสุงคะ พ.ศ.
๔๐๐๕๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๑๑
สัญลักษณ์การประสูติ ภาพที่
๑๑-๑๒-๑๓
ต่อไปนี้เป็นประเภทที่เรียกว่า ภาพดอกบัวมีสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เข้าประกอบ.
ในภาพที่ ๑๑ นี้ มีช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์เข้ากับเรื่องที่กล่าวว่า
ในการปฏิสนธิของพระองค์นั้น พระมารดาทรงพระสุบินว่ามีช้างมาเข้าในพระอุทร.
หรือยิ่งกว่านั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์กันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
และยังคงถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย และทุกลัทธินิกายไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนาก็เป็นได้.
สำหรับพุทธบริษัทเรา ยอมรับเอาสัตว์เพียง ๒ ชนิดว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
คือช้างกับสีหะ ซึ่งเราเรียกกันในเมืองไทยว่า สิงห์, เป็นสัญลักษณ์และอุปมา
สำหรับพระพุทธองค์ ทั้งในแง่ของศิลปะและธรรมะ. และใช้คำว่านาคะกับช้าง
แทนที่จะใช้คำว่า คชะ, ข้อนี้ทำให้คนบางคนเข้าใจคำว่านาคะ เป็นพระยานาคหรืองูไปเสียก็มี.
โดยที่แท้คำว่านาคะซึ่งเล็งถึงช้างนั้น มีความหมายเพียงว่า เป็นยอดของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
ในทางที่มีคุณธรรมอันประเสริฐเท่านั้นเอง แตกต่างไปจากสีหะ ซึ่งเล็งไปถึงยอดแห่งความกล้าหาญและชัยชนะต่อศัตรู.
ดอกบัวกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญรองลงไปจากช้างในภาพนี้,
แต่กระนั้นก็ไม่ทิ้งหลักเดิม ที่ต้องการให้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วยกัน,
ในที่นี้มี ๑๒ กลีบ, มีเม็ดลูกแก้วหรือลูกประคำที่ขอบวงรอบนอก ๓๖ เม็ด,
และจะกลายเป็น ๑๐๘ เม็ด ถ้านับรวมหมดทั้งสามแถว.
ลองเปรียบเทียบการที่แบบสาญจีนี้
ทำเป็นช้างตัวเดียวอยู่ตรงกลาง กับแบบภารหุตในภาพถัดไป ที่ทำเป็นช้างหลายตัวอยู่รอบ
ๆ ดอกบัว ว่าให้ความคิดที่แตกต่างกันอย่างไร.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๑๑
|