ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๑๐ สัญลักษณ์การประสูติ
มีบัวบานที่ใจกลาง ล้อมด้วยสัญลักษณ์พิเศษ เช่นดอกบัวบาน มีขายื่นออกไป
๓ ขา เป็นต้น
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.
๓๐๐๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๑๐
ภาพสัญลักษณ์แห่งการประสูติภาพนี้
ยังจัดเป็นภาพประเภทเดียวกันกับภาพที่
๙ คือภาพดอกบัวบานมีภาพเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ล้อมรอบนอก.
เครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ในภาพนี้
คือดอกบัวบานที่มีขา หรือหนวดยื่นออกมาข้างหน้า ๓ ขา หรือ ๓ เส้นนั่นเอง,
๘ ดอกด้วยกัน, (ซ้ายสี่ ขวาสี่), มีดอกบัวบานธรรมดาอยู่ข้างบน ๑ ดอก, มีภาพคนครึ่งท่อนอยู่ข้างล่าง
๑ คน. สำหรับภาพคนทำนองนี้ซึ่งมีมากในหินสลักแบบภารหุตนั้น เป็นเพียงเจ้าของทานผู้บริจาคเงินสร้างหินสลักแผ่นนี้เป็นธรรมดา
ดังนั้นไม่ควรนับเป็นสิ่งหรือเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์อะไร, ศิลปินสลักลงไป
ตามความประสงค์ของเจ้าของทานมากกว่าอย่างอื่น, ดังนั้นจึงเหลืออยู่แต่ภาพดอกบัวที่มีขายื่นออกไปข้างหน้า
๓ ขาเท่านั้นเอง ที่มีความหมายสำคัญอันจะต้องตีความ.
เมื่อพิจารณาดูดอกบัวมีขาหรือหนวดพุ่งออกไปข้างหน้า
๓ ชิ้นนี้อย่างละเอียดแล้ว สันนิษฐานว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับตรีรตนะ
หากแต่ไม่สมบูรณ์หรืออาจจะอยู่ในขั้นแรกกำเนิดของตรีรตนะก็เป็นได้. ดอกบัวก็คือดอกบัวตรงกัน
หากแต่ในที่นี้ไม่มีวงกลมล้อม, ขาที่พุ่งออกไป ๓ ขาก็คือเปลว ๓ เปลวของตรีรตนะนั่นเอง,
แบบนี้เป็นแบบภารหุต และยังมีพบแบบอมราวดีบ้างเหมือนกัน, ไม่มีทางที่จะสันนิษฐานเป็นอย่างอื่น
นอกจากจะสันนิษฐานว่าเป็นต้นกำเนิดของตรีรตนะดังที่กล่าวแล้ว, เนื่องจากยังไม่เคยพบคำอธิบายในที่ใด
จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อน จนกว่าจะพบเรื่องราวที่แน่นอน, ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับพวกเราไปก่อน.
และถ้าการสันนิษฐานนี้ถูกต้อง ภาพนี้ก็คือ ภาพดอกบัวบาน ล้อมด้วยตรีรตนะอีกนั่นเอง.
ดอกบัวตรงกลาง มี ๘ กลีบ,
๗ จุดต่อมเกสรตัวเมีย, ทำอย่างง่าย ๆ ไม่มีเส้นเกสรเหมือนภาพอื่น.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๑๐
|