ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๙ สัญลักษณ์การประสูติ
บัวบานที่ใจกลาง ล้อมด้วยตรีรตนะ ๔ อัน ศรีวัตสะ ๔ อัน บัวบาน ๘ ดอก,
มีจำนวนกลีบเป็นต้น เป็นจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์ เป็นลวดลายที่ทั้งงดงาม
ทั้งศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.
๓๐๐๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๙
สัญลักษณ์แห่งการประสูติภาพนี้
นับว่ามีความสวยงามยิ่งกว่าทุกภาพ มีความเหมาะสมที่สุด พร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดโดยเท่ากัน.
ดอกบัวซึ่งเป็นตัวสัญลักษณ์โดยตรงนั้น
มีกลีบ ๑๖ กลีบ เผอิญเท่ากับจำนวนญาณ ๑๖ ญาณแห่งอานาปานสติ ๑๖ ขั้น ซึ่งแบ่งออกเป็นสติปัฏฐานทั้งสี่
อย่างละสี่ ดังที่ปรากฏอยู่ในบาลีอานาปานสติสูตรนั้นแล้ว ซึ่งเป็นทั้งหมดของญาณในการปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุมรรคผลขั้นสุดท้าย,
มีเส้นเกสร ๔๘ เส้น, มีกลีบชั้นในอีก ๘ กลีบ.
ส่วนสิ่งประกอบรอบนอกนั้น
ประกอบด้วยสิ่ง ๓ สิ่งคือตรีรตนะ ๔ ชิ้น, ศรีวัตสะ ๔ ชิ้น, ดอกบัว (ดอกใหญ่บานจนลู่ไปทางหลัง)
๘ ดอก, และดอกไม้เล็ก ๆ แซมเป็นระยะ ๆ อีก ๑๖ ดอก, สิ่งที่แปลกมาใหม่ก็คือ
ศรีวัตสะ ซึ่งมีรูปร่างเหมือนตาลปัตร ๕ แฉกนั่นเอง.
ศรีวัตสะนี้ เป็นเครื่องหมายของความเป็นบุคคลสูงสุด
หรือพระเป็นเจ้า และยึดถือกันมาแล้วแต่โบราณกาล ในทุกลัทธิทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย
ดังที่ปรากฏอยู่ในหินสลักแผ่นนี้ซึ่งเป็นหินสลักเก่า ถึงยุคก่อนมีรูปปฏิมาของพระศาสดาแห่งศาสนาต่าง
ๆ คือยุคก่อนมีพระพุทธรูปนั่นเอง. ครั้นล่วงมาถึงยุคที่มีรูปปฏิมาของพระศาสดา
หรือของพระเป็นเจ้าขึ้น เครื่องหมายนี้คงจะตกไปเป็นของฝ่ายศาสนาฮินดูยิ่งขึ้น
ๆ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายนั้นไป ดังที่มักปรากฏอยู่ที่หน้าอกเทวรูปที่เป็นพระเป็นเจ้าองค์สำคัญ
ๆ และเงียบไปทางฝ่ายพุทธศาสนา ซึ่งคงสงวนตรีรตนะไว้. และถ้าหากว่าศรีวัตสะของฝ่ายฮินดู
ไม่มีในหินสลักที่เก่าเท่าหรือเก่ากว่าที่มีในหินสลักของฝ่ายพุทธศาสนาดังเช่นหินสลักที่ภารหุตแผ่นนี้แล้ว
เรื่องก็จะกลายเป็นว่า ศรีวัตสะของฝ่ายฮินดู ได้ถอดแบบไปจากศรีวัตสะของฝ่ายพุทธศาสนา
ในลักษณาการทำนองเดียวกันกับเรื่องของ ตรีศูละและพระศรีหรือลักษมี ดังที่กล่าวแล้วในคำอธิบายของภาพที่
๗ ตอนท้ายนั่นเอง.


ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๙
|