ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก
ยุคก่อนมีพระพุทธรูปในประเทศอินเดีย พ.ศ. ๓๐๐๗๐๐
ถ่ายจากภาพปั้นที่จำลองขึ้นใหม่ เพื่อกิจการแห่งโรงมหรสพทางวิญญาณ
ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

พุทธทาสภิกขุ รวบรวมและอธิบาย
ภาพที่ ๗ สัญลักษณ์การประสูติ
ภาพบัวบานที่ใจกลาง ล้อมด้วยเปลวไฟสามยอดทั้งสี่ด้าน เป็นภาพตรีรตนะขึ้นมา
๔ ภาพ มีจุดกลางอันเดียวกันอย่างน่าชมความคิด มีจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์ด้วย
(จากหินสลัก แบบภารหุต สมัยสุงคะ พ.ศ.
๓๐๐๔๐๐)

คำอธิบายภาพที่ ๗
ภาพนี้ เป็นภาพสัญลักษณ์การประสูติ
ที่ประดิษฐ์ให้เป็นภาพตรีรตนะ หรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลานี้ว่า Tiratana
Symbol หรือสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย. (รีบเปิดข้ามไปดูภาพเลขที่ ๕๓ เสียก่อน
แล้วเปรียบกับภาพนี้.)
หลักเกณฑ์โดยส่วนใหญ่ก็คือ
มีดอกบัวบานอยู่ในวงกลมแล้วมีเปลวพุ่งขึ้นไปจากวงกลมนั้น เป็น ๓ ยอด, นอกนั้นก็คือลวดลายที่ประดับหรือดัดแปลงเพื่อความงามตามแบบต่าง
ๆ กันตามใจชอบ. วงกลมเป็นสัญลักษณ์ของความว่าง, ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์,
อาการบานคือการเกิดขึ้นหรือการตรัสรู้ขึ้น, เปลวคือสัญลักษณ์ของรัศมี,
แตกออกไปเป็น ๓ ยอด ซึ่งเล็งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๓ อย่างในศาสนา คือพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ หรืออะไรที่มีค่าเท่ากันกับสิ่งทั้งสามนั้นก็ได้.
ในภาพนี้ จงสังเกตดูให้ดี
น่าชมความคิดที่เชื่อมตรีรตนะถึง ๔ อันไว้ด้วยกัน ด้วยใจกลางที่เป็นดอกบัวในวงกลมเพียงดอกเดียว,
เหมือนกับพุ่งไปทั้ง ๔ ทิศ หรืออะไรทำนองนั้น. แล้วแซมด้วยดอกบัวตูมเล็ก
ๆ ตามระหว่างถึง ๑๒ ดอก เพื่อให้งดงามขึ้น และมีความหมายยิ่งขึ้น. ที่ใจกลางดอกบัว
มีขีด ๓ ขีดต่อ ๑ ชุด, รวม ๘ ชุด, ไขว้กันอยู่อย่างงดงาม ซึ่งผู้ทำได้เล็งถึงความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่นอน.
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับเครื่องหมาย
ตรีรตนะ นี้ก็คือการที่ได้ใช้เครื่องหมายนี้ติดที่ยอดคันธงประจำกองทัพ
หรือประจำขบวนของพวกพุทธบริษัทมาแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐ เป็นแน่นอน
เพราะปรากฏอยู่ในสภาพสลักที่สาญจีนั่นเอง, จะตรวจดูเครื่องหมายยอดธงที่กล่าวนี้ได้จากภาพเลขที่
๓๐ ริมบนสุดตรงกึ่งกลาง ที่มีคันธงแบบธงปฏากโผล่ขึ้นไป จนเสียบเข้าไปในลวดลายขอบของภาพ
มีเครื่องหมายตรีรตนะ อยู่ที่นั่น, และในภาพเลขที่ ๕๐ ก. ริมบนซ้าย (ซ้ายมือของผู้ดู)
ที่ตรงมุมสุด, และในภาพเลขที่ ๕๐ ข. ที่ริมบนขวาสุด, ซึ่งล้วนแต่มีเครื่องหมายตรีรตนะอยู่ที่ยอดคันธงปฏากด้วยกันทั้งสองภาพ.
ข้อนี้เป็นการแสดงว่า วัฒนธรรมแห่งการใช้เครื่องหมายตรีรตนะ ที่ยอดคันธงของพวกพุทธบริษัทนั้น
ได้มีมาก่อนการสลักภาพที่สาญจีเป็นแน่นอน มิฉะนั้นแล้วจะปรากฏอยู่ในภาพสลักนั้นได้อย่างไร
ดังนั้นจึงกล่าวว่า มีมาแล้วตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๓๐๐-๔๐๐ เป็นแน่.
สำหรับเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายฮินดู
ที่เรียก ตรีศูละนั้นต้องลอกเลียนหรือยืมไปจากเครื่องหมายตรีรตนะของพวกพุทธบริษัทเป็นแน่,
เช่นเดียวกับที่ได้บอกเอาแบบภาพหญิงนั่งเหนือดอกบัว (ดูภาพเลขที่ ๒๕) ของพุทธไปเป็นภาพพระศรีหรือลักษมีของตน.
เหตุผลง่าย ๆ ก็คือว่า ไม่มีภาพตรีศูละในภาพหินสลักฝ่ายฮินดู ที่เก่าเท่าหรือเก่าก่อนหินสลักที่สาญจีเลย,
และรูปเครื่องหมายตรีศูละนั้น เป็นเพียงรูป ๓ ยอดเกลี้ยง ๆ เฉย ๆ. ดังนั้นควรจะระวัง
อย่าเอาตรีรตนะ ไปปนเป็นอันเดียวกันกับ ตรีศูละเลย.
การที่มีชื่อเรียกอะไรแปลกออกไป
เช่นเรียกเปลว ๓ ยอดของตรีรตนะว่า นันทิ-ปท และอื่น ๆ อีกบางอย่างนั้น
มีกลิ่นไอของฮินดูจัดเต็มที่ ย่อมเป็นการเรียกที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ในเมื่อฝ่ายฮินดูได้ลอกแบบสิ่งเหล่านี้เอาไปแล้ว
และบัญญัติชื่อหรืออะไรเอาใหม่ตามความต้องการของตน หรือแม้ตามความรู้สึกของศิลปินที่เป็นฮินดูศาสนิกในขั้นต่อมา
จนกระทั่งคำเหล่านั้นกลายเป็นภาษาฝ่ายศิลปะ ที่ใช้กับชาวบ้านทั่วไป, ดังนั้นขอให้ระวังคำบัญญัติประเภทนี้ไว้ให้จงหนัก.

ภาพพุทธประวัติจากหินสลัก > ภาพที่ ๗
|