|
|
อนาคต
ภาพอำนาจการทำลายของระเบิดนิวเคลียร์ ที่ทดลองกันปี ค.ศ. 1950 ภาพซ้าย จะเห็นแสงระเบิดเกิดขึ้นจากแรงระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 1 เมกะตัน อีก 2.3 วินาที คลื่นกระแทกผ่านมายังบ้าน ทำให้บ้านแตกกระจายดังรูปขวา อำนาจการทำลายล้างของลูกระเบิดลูกนี้กินอาณาบริเวณ 80 ตารางกิโลเมตร ถ้าจะเขียนถึงการใช้ไอโซโทปกัมมันตรังสีในปัจจุบันก็จะได้ยาวหลายหน้ากระดาษ เมื่อมีการสร้างเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูขึ้นทั่วโลก แหล่งผลิตไอโซโทปกัมมันตรังสีก็จะมากขึ้นด้วย ดังนั้นราคาก็จะถูกลงและจะมีคนใช้ไอโซโทปมากขึ้นทั่วโลก ขอบเขตของการใช้ไอโซโทปและผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของมนุษย์ที่จะมีจินตนาการกว้างขวางแค่ไหน ภาพของอนาคตดูแจ่มใสมาก แต่น่าจะตั้งข้อสังเกตที่ควรระวังไว้บ้าง เพราะกัมมันตภาพรังสีมีอันตรายจริง ๆ มันอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้และอาจจะทำลายสุขภาพของร่างกาย ดังเช่นที่ทำลายโรคภัยได้ รังสีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ และถ้ารับรังสีมากก็อาจตายได้ ในสมัยแรกที่รู้จักกัมมันตภาพรังสี นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบถึงอันตรายเหล่านี้ หลังจากที่มารี และปิแอร์ คูรี ได้ทำงานกับสารกัมมันตรังสีสักพัก ก็สังเกตว่านิ้วมือบวมแดง และต่อมาผิวหนังตรงนั้นก็ลอก อองรี เบคเคอเรลเคยนำเรเดียมติดตัวไปโดยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อเชิ้ตและพบว่าตรงอกบริเวณนั้นผิวหนังไหม้ นอกจากนี้ก็มีคนอื่น ๆ ได้รายงานของการไหม้ของผิวหนังและอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด ความแปลกประหลาดที่เป็นจริงเกี่ยวกับรังสีก็คือ สามารถทำอันตรายได้โดยปราศจากความเจ็บปวดอันเป็นสัญญาณเตือนอันตรายทั่ว ๆ ไป ความเจ็บปวดทำให้เราดึงมือออกจากเปลวไฟหรือจากสิ่งที่ร้อน แต่คนที่ทำงานกับวัสดุกัมมันตรังสีจะไม่มีทางทราบว่าเขากำลังสัมผัสกับสิ่งร้อนจนตนเองคิดว่าปลอดภัย นอกจากนี้การทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมหรืออันตรายอื่น ๆ ที่เกิดจากกัมมันตภาพรังสีจะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นสัปดาห์ ๆ บุคคลนั้นอาจได้รับอันตรายและจะไม่ทราบจนเวลาล่วงไปนาน ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ทราบถึงอันตรายเหล่านี้เป็นอย่างดี เขายังคงค้นหาวิธีใหม่ ๆ ที่ป้องกันตนเองและบุคคลอื่น ๆ จากกัมมันตรังสี ห้องทดลองทางอะตอมสมัยใหม่ได้สร้างขึ้นอย่างปลอดภัย ฝาหนังก็สร้างให้หนา ห้องที่เก็บวัสดุกัมมันตรังสีก็ถูกแยกออกไปต่างหากและปิดกั้นด้วยประตูที่ทำด้วยตะกั่ว ตะกั่วเป็นโลหะที่กั้นรังสีได้ดี สำหรับบริเวณที่มีรังสีจะมีป้ายบอกอันตรายจากรังสีติดไว้ นอกจากนั้นก็มีเครื่องมือวัดรังสีแบบต่าง ๆ ที่จะคอยวัดอยู่ตลอดเวลาและเตือนเมื่อรังสีแรงเกินไปสำหรับบุคลลที่ทำงานทางรังสีจะมีเครื่องบันทึกรังสีเล็ก ๆ ติดตัวเพื่อบันทึกรังสีที่ตนได้รับ ในห้องที่เก็บสารกัมมันตรังสี คนงานต้องสวมชุดพิเศษป้องกันรังสีคลุมตลอดตัวจากศีรษะถึงเท้า หรือขนย้ายถ่ายเทสารกัมมันตรังสีโดยเอาไว้ใต้น้ำ และใช้มือกลยาว ๆ ทำงานแทนมือ เราทราบแล้วว่าน้ำสามารถกั้นรังสีได้ บางครั้งผู้ทำงานอาจไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องเดียวกับที่เอาสารกัมมันตรังสีไว้ แต่เขาจะปฏิบัติงานโดยยืนอยู่ข้างนอกแล้วใช้มือกลปฏิบัติงานแทน มือกลนี้จะเคลื่อนไหวตามที่เราเคลื่อนไหวมือของเราเอง โดยมองผ่านหน้าต่างกระจกที่หนาประมาณ 3 ฟุต โดยมือกลนี้ผู้ทำงานสามารถแยกสารกัมมันตรังสีออกจากกัน บรรจุลงขวด ปิดฝาและทำงานฝีมืออื่นๆ ได้ด้วย เรื่องของเราก็จบลงแค่นี้ แต่ยุคอะตอมจะยังคงก้าวหน้าอยู่ตลอดกาล นับเป็นเวลาน้อยกว่า 25 ปี ตั้งแต่วันสำคัญในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2485 ที่มนุษย์ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกที่ไขกุญแจนำเอาพลังงานอะตอมออกมาใช้ได้โดยอาศัยปฏิกิริยาลูกโซ่ ช่วงเวลาเพียง 25 ปีนั้นนับว่าสั้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับวิวัฒนาการของมนุษย์ที่นับเป็นล้านปี กระนั้นก็ตามในช่วงพริบตาสั้น ๆ นี้พลังงานอะตอมก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมากมาย พลังงานนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สอง บัดนี้ พลังงานอะตอมกำลังรับใช้โลกและทุกประเทศของโลกในด้านที่ให้มีพลังงานมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีอาหารมากขึ้น และเข้าใจกันเองมากขึ้น พลังงานอะตอมช่วยเชื่อมโยงประสานให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมทำงานด้วยกันในการสืบเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และนำไปปรับปรุงวิธีการทางอุตสาหกรรม ยุคอะตอมนี้ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเริ่มก้าวหน้า แต่ก็ก้าวไปไกลโขทีเดียว
| |||||||||||||||||||||||