ผมต้องเอาภาพวงโคจรของดาวเคราะห์ใน
ระบบสุริยะจักรวาล (Solar System)
ขึ้นมาเป็นภาพประจำสัปดาห์ เพราะคุณวิทวัสได้ส่งข้อความสอบถามมาว่า
"ดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลกและดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
มีวงโคจรเป็นวงกลมหรือไม่ และถ้าไม่เป็นวงกลมจะมีลักษณะวงโคจรเป็นแบบไหน"
ขอตอบคำถามเลยแล้วกันนะครับ
ระบบสุริยะของเราประกอบไปด้วยดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ บริวารของดาวเคราะห์
อุกาบาต ดาวหาง และอื่นๆที่เรายังไม่ค้นพบในตอนนี้

ในสมัยโบราณนั้นมนุษย์เชื่อว่าโลกของเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
กล่าวคือเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งดวงอาทิตย์โคจรรอบโลกครับ
จนเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี่เองที่แนวความคิดนี้เปลี่ยนแปลงไป
โดยเชื่อว่าโลกเราต่างหากที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงมีคำถามเพิ่มว่า
"แล้วโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์โดยมีวงโคจรอย่างไร" นิโคลัส โคเปอร์นิคัส
(Nicolaus Copernicus)
ได้เสนอทฤษฏีว่าโลกของเรารวมทั้งดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม
และทฤษฏีนี้ก็เป็นที่นิยมกันมาหลายปีจนกระทั่ง
โยฮัน เคปเลอร์
(Johannes Kepler)
ได้ใช้ข้อมูลการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของ ไทโค บราเฮ
(Tycho Brahe)
มาคำนวณหาระยะห่างของดาวเคราะห์กับดวงอาทิตย์และพบว่าระยะทางนั้นไม่คงที่

(โยฮัน เคปเลอร์)
โยฮัน เคปเลอร์จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมเป็นระยะเวลากว่าสิบปีจึงพบว่า
"ดาวเคราะห์ที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ไม่ได้เคลื่อนที่เป็นวงกลมอย่างที่เราคิดแต่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์เป็น
วงรี (Ellipse)"
และได้ประกาศผลที่ค้นพบนี้แล้วตั้งเป็นกฎข้อที่หนึ่งของเคปเลอร์ซึ่งมีใจความว่า
"วงโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีโดยมีดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดโฟกัสจุดหนึ่ง"

(กฎข้อที่ 1 ของเคปเลอร์)
และในบรรดาดาวเคราะห์ซึ่งเป็นบริวารของดวงอาทิตย์ก็คงจะมีเจ้าดาวพลูโตนี่แหละครับที่มีเส้นทางการโคจรที่แตกต่างจากบรรดาดาวเคราะห์ดวงอื่น
เพราะว่าดาวเคราะห์ส่วนใหญ่จะโคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน
แต่ดาวพลูโตกลับมีวงโคจรที่มีระนาบเอียงทำมุม 17 องศา
ดังรูปที่เอามาให้ดูครับ

(วงโคจรของดาวเคราะห์)